ผงะราคา “น้ำมันปาล์ม” ขวดเท่า “ถั่วเหลือง”

น้ำมันปาล์ม

ผงะราคาน้ำมันปาล์มเบียดเทียบชั้นน้ำมันถั่วเหลือง “ลานิญาเอฟเฟ็กต์”ทุบผลผลิตมาเลย์-อินโดฯ-ไทยวูบ ดันราคาซีพีโอพุ่งยาวถึงไตรมาส 1/65 แถมไทยสต๊อกวูบ 1.5 แสนตัน โรงสกัด 3 จังหวัดแห่ประกาศหยุดรับซื้อหลังกลืนเลือดขาดทุน กก.ละ 5-7 บาท โรงกลั่นกัดฟันขายขาดทุน

แหล่งข่าวจากวงการโรงสกัดน้ำมันปาล์ม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสถานการณ์ราคาผลปาล์มทำราคานิวไฮ กก.ละ 9-10 บาท ส่งผลกระทบต่อโรงสกัดน้ำมันปาล์มอย่างมาก โดยขณะนี้มีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มปิดชั่วคราวไปหลายโรงงาน บางโรงงานไม่ประกาศราคารับซื้อผลปาล์มแล้วเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

เช่น ที่ จ.ชุมพรที่ปัจจุบันบริษัท ชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) อ.ท่าแซะ หยุดประกาศราคา

ขณะที่ จ.กระบี่ บริษัท กระบี่วิเศษน้ำมันปาล์ม อ.คลองท่อม, ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ อ.อ่าวลึก, บริษัท ป.พานิชรุ่งเรือง ปาล์มออยล์ 2 อ.เมือง, บริษัท ปาล์มพันล้าน อ.คลองท่อม, บริษัท ภัทร ปาล์มออยล์ อ.เขาพนม, บริษัท ยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม อ.ปลายพระยา และ อ.ลำทับ, บริษัท สยามโมเดิร์นน้ำมันปาล์ม อ.อ่าวลึก, บริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (มหาชน) อ.เหนือคลอง และบริษัท เอเชียนน้ำมันปาล์ม อ.อ่าวลึก

และ จ.สุราษฎร์ธานี มีบริษัท กาญจนดิษฐ์น้ำมันปาล์ม (อำเภอกาญจนดิษฐ์), บริษัท ท่าฉางสวนปาล์มน้ำมันอุตสาหกรรม อ.ท่าฉาง, บริษัท ไทยทาโลว์แอนด์ออยล์ (บางสวรรค์) อ.พระแสง, บริษัท บางสวรรค์น้ำมันปาล์ม อ.พระแสง, บริษัท ป.พานิชย์รุ่งเรือง ปาล์มออยล์ อ.ชัยบุรี, บริษัท พี.ซี.ปาล์ม (2550) อ.ดอนสัก, บริษัท ยูนิปาล์มอินดัสทรี อ.พระแสง และบริษัทแสงศิริอุตสาหกรรมเกษตร อ.กาญจนดิษฐ์ เป็นต้น จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง

“ราคาปาล์มน้ำมันปรับสูงขึ้น กก.ละ 9-10 บาท โรงสกัดต้องซื้อปาล์ม 6 กิโลกรัมมาสกัดทำให้มีต้นทุนน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) กว่า กก.ละ 50 บาท พอไปขายให้โรงกลั่นได้ราคาที่ กก.ละ 43-45 บาท ขาดทุน 5-7 บาท บางทีโรงกลั่นที่ผลิตน้ำมันปาล์มขวดส่งขายที่ห้างไม่ได้ปรับราคาเพราะทำสัญญาขายล่วงหน้า 2 เดือนโรงกลั่นก็ลำบาก ขวดยังอยู่ที่ 55 บาท ซึ่งหากปรับจริงต้องไปถึงขวดที่ 60 บาท”

“แม้ว่าราคาผลปาล์มช่วงนี้จะอ่อนตัวลงมาเหลือ กก.ละ 9 บาทแต่ก็ยังสูง ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามช่วยทำโครงสร้างราคาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป อนาคตถามว่าจะปรับตัวอย่างไรคงตอบได้ยาก เพราะล้มหายตายจาก ขายกิจการกันไปหลายโรงงานแล้ว บางโรงก็ชะลอไปจนกว่าผลผลิตฤดูกาลใหม่จะออกในเดือนมีนาคม 2565”

นายกฤษดา ชวนะนันท์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะที่ระดับราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวด ขวดละ 55 บาท ขยับเข้าไปใกล้ราคาน้ำมันถั่วเหลือง จากเดิมที่ทั้ง 2 ชนิดจะต่างกันประมาณ 5-6 บาทต่อขวด เป็นผลสะท้อนจากดีมานด์และซัพพลายผลปาล์มในตลาดโลก

โดยเฉพาะประเทศผู้ปลูกหลัก คือ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ผลผลิตน้อยลงจากลานิญา และขาดแรงงานเก็บเกี่ยวผลผลิตหลังจากโควิดทำให้แรงงานต่างด้าวเข้าประเทศไม่ได้นั่นจึงส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบทั่วโลกขยับขึ้นไปโดยเฉพาะราคาน้ำมันปาล์มดิบของไทยที่ขยับขึ้นไปถึง กก.ละ 47 บาท แม้ว่าตอนนี้จะอ่อนตัวลงมาบ้างจากที่อินเดียประกาศชะลอนำเข้าเพราะไม่สามารถทนรับซื้อราคาที่สูงได้จึงทำให้ราคาตลาดโลกลดลง ซึ่งราคาไทยก็ลดลงตามเหลือ 45 บาท

แต่ทั้งนี้คาดว่าจะยังทรงตัวอยู่ระดับนี้ไปจนถึงหลังเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2565 ที่ผลผลิตออกมา เพราะช่วงนี้ขาดซัพพลายช่วงสั้น ฝนตกไม่สามารถตัดผลปาล์มได้ และสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบของไทยก็ลดลง โดยล่าสุดสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบเดือนกันยายน 2564 มีปริมาณ 290,000 ตัน ลดลง 37% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มี 445,000 ตัน หรือลดลง 155,000 แสนตัน

“ไม่อยากให้มองว่าการที่ราคามาเท่ากันเป็นเรื่องผิดปกติ เพราะที่ผ่านมามีค่านิยมว่าน้ำมันถั่วเหลืองดีกว่าน้ำมันปาล์ม ราคาต้องแพงกว่า 5-6 บาท แต่จริง ๆ แล้วน้ำมันทุกชนิดมีลักษณะการใช้ที่ต่างกัน เช่น หากจะทอดใช้ความร้อนจุดเดือดสูงใช้น้ำมันปาล์มจะเหมาะสมกว่า และมีงานวิจัยว่าน้ำมันปาล์มไม่ได้ทำให้เกิดคอเลสเตอรอลมากกว่าน้ำมันถั่วเหลือง แต่ต้องยอมรับว่าถ้าราคาเท่ากัน ผู้บริโภคก็อาจจะหันไปซื้อน้ำมันถั่วเหลืองมากขึ้น”