โจทย์แรงงานนอกระบบในไทย ความเหลื่อมล้ำ ค่าแรง และความเสี่ยง

คอลัมน์ : นอกรอบ
ผู้เขียน : อุปลัทธิ์ กอวัฒนสกุล
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

แรงงานนอกระบบเป็นประเด็นที่พบได้ทั่วไปในประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งไทย ซึ่งมีแรงงานนอกระบบจำนวนมาก จากตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2563 ชี้ให้เห็นว่าอัตราการจ้างแรงงานนอกระบบหรือแรงงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนในระบบประกันสังคมมีจำนวนสูงถึง 20.4 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 54 ของแรงงานทั้งหมด

แรงงานนอกระบบซึ่งมีสัดส่วนใหญ่ในตลาดแรงงาน อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและสภาวะทางสังคมของประเทศได้ ส่วนหนึ่งจากความเหลื่อมล้ำของรายได้และโอกาสในการเพิ่มผลิตภาพของผู้ใช้แรงงาน

ผลวิจัยฉบับนี้อาศัยข้อมูลแบบสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2563 พบว่าลักษณะหรือตัวแปรต่าง ๆ ของแรงงาน ได้แก่ เพศ อายุ หรือประสบการณ์ทำงาน สถานภาพสมรส พื้นที่อยู่อาศัย ระดับการศึกษา ชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ และประเภทของค่าแรง มีความสัมพันธ์ทางสถิติกับโอกาสของการเป็นผู้ใช้แรงงานนอกระบบ

เช่น ผู้ใช้แรงงานที่มีอายุ หรือประสบการณ์ทำงานน้อย และมีสถานภาพโสดมักจะมีโอกาสเป็นแรงงานนอกระบบสูงกว่า ในทางตรงกันข้าม การเป็นหัวหน้าครัวเรือน อาศัยอยู่ในเขตเมือง และระดับการศึกษาที่สูง ทำให้โอกาสของผู้ใช้แรงงานในการเป็นแรงงานนอกระบบลดลง

นอกจากนี้ ตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับงาน เช่น ชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์และการได้รับค่าแรงรายเดือนมีความสัมพันธ์เชิงลบกับแนวโน้มการเป็นแรงงานนอกระบบ คือผู้ใช้แรงงานที่มีชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์สูง และได้รับค่าแรงเป็นรายเดือนจะมีโอกาสเป็นแรงงานนอกระบบลดลง

ทั้งนี้ ความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของแรงงานนอกระบบ จะช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายระบุ “ประเด็นปัญหาด้านแรงงาน” ที่ต้องการการพัฒนา และแก้ไขปัญหานั้นอย่างตรงจุดได้

คือ แรงงานนอกระบบมักมีรายได้ที่ค่อนข้างต่ำและไม่แน่นอน ส่งผลให้มีเงินออมไม่เพียงพอ ลักษณะเฉพาะเหล่านี้ทำให้แรงงานนอกระบบมีความเปราะบาง และสูงขึ้นเมื่อเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ เช่น วิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา แรงงานนอกระบบเป็นคนกลุ่มแรกที่ถูกให้ออกจากงาน

ดังนั้น หนึ่งในแนวทางแก้ไขปัญหาสำคัญ คือ การทำให้แรงงานนอกระบบเข้าถึงระบบประกันสังคม โดยการเร่งสนับสนุนหรือจูงใจให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่ภาคแรงงานในระบบมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ แรงงานนอกระบบมักจะอาศัยอยู่ในเขตชนบท ซึ่งมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาและงานในระบบได้น้อยกว่า ดังนั้นนโยบายเพื่อสร้างโอกาสการจ้างแรงงานในระบบในเขตชนบท เช่น โครงการจูงใจให้บริษัทตั้งสาขาบริษัท และโรงงานนอกเมือง อาจช่วยให้ปัญหาการเข้าถึงระบบบรรเทาลงได้

ความเหลื่อมล้ำของค่าแรง

ผลการวิเคราะห์ยังแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาในโรงเรียน ซึ่งช่วยลดแนวโน้มการทำงานในภาคแรงงานนอกระบบ ความเหลื่อมล้ำของค่าแรงระหว่างแรงงานในระบบกับนอกระบบ รวมทั้งความเสี่ยงจากการทำงานและการได้รับบาดเจ็บที่รุนแรง

ผู้กำหนดนโยบายสามารถใช้มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในระบบเพื่อช่วยให้แรงงานเข้าสู่ระบบได้อย่างราบรื่นยิ่งขึ้น เนื่องจากแรงงานที่มีระดับการศึกษาสูงกว่าจะมีโอกาสได้งานที่ดีกว่า มีแนวโน้มต่ำกว่าที่จะทำงานที่มีความเสี่ยงสูง และมีโอกาสมากกว่าในการเข้าสู่ภาคแรงงานในระบบ การส่งเสริมนโยบายการศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประชากรในเขตชนบท ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นแรงงานนอกระบบ และมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพน้อยกว่าประชากรในเขตเมือง

อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า การศึกษาในโรงเรียนไม่มีความสัมพันธ์กับการที่แรงงานนอกระบบได้ค่าแรงสูงขึ้น แต่กลับเป็นประสบการณ์การทำงานที่มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับค่าแรง

ดังนั้น โครงการฝึกอบรมทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานอาจช่วยแรงงานที่ยังคงต้องอยู่ในภาคแรงงานนอกระบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อให้มีรายได้สูงขึ้นและมีความเปราะบางต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจลดลง

นอกจากนี้ ภาครัฐยังอาจช่วยแรงงานเหล่านี้ได้ด้วยการบังคับใช้ “โครงการสวัสดิการสังคมเฉพาะ” สำหรับแรงงานนอกระบบและบังคับใช้กฎหมายและข้อบังคับเพื่อขจัดการแสวงหาประโยชน์จากแรงงานนอกระบบและการให้ค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม

ไม่ใช่ทางเลือกแต่ไม่มีทางเลี่ยง

จากการทดสอบในงานวิจัยต่าง ๆ ที่ผ่านมา มีข้อสรุปว่า แรงงานจะเต็มใจเลือกทำงานในภาคแรงงานนอกระบบหากเข้าเงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่ง ดังนี้ 1.ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างภาคแรงงานในระบบ และนอกระบบ ในแง่ของค่าแรงและเงื่อนไขการทำงาน หรือ 2.มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างภาคแรงงานสองระบบ แต่แรงงานนอกระบบได้ประโยชน์จากความแตกต่างนั้น เช่น ได้ค่าแรงมากกว่า

เนื่องจากความเหลื่อมล้ำของค่าแรงระหว่างแรงงานในระบบและนอกระบบในประเทศไทย ชี้ให้เห็นว่าการเป็นแรงงานนอกระบบไม่ได้เป็นทางเลือก แต่เป็นทางที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่เปราะบาง เนื่องด้วยทุนมนุษย์และผลิตภาพที่ไม่เพียงพอ เพื่อบรรเทาปัญหานี้ ภาครัฐอาจลดอุปสรรคของแรงงานนอกระบบในการเข้าสู่ภาคแรงงานในระบบ เช่น การลดเงินสมทบที่ส่งให้ระบบประกันสังคมสำหรับแรงงานนอกระบบที่มีรายได้น้อยและไม่มั่นคง เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ลงทะเบียนกับระบบประกันสังคม รวมทั้งการปฏิรูปกฎหมายและข้อบังคับที่มีระเบียบพิธีการไม่จำเป็นและยุ่งยาก