ฟิทช์ คงเครดิต SCC ปรับมุมมองแนวโน้มเชิงลบ

ปูนซิเมนต์ไทย

ฟิทช์ เรทติ้งส์ คงเครดิต “ปูนซิเมนต์ไทย” แต่ปรับมุมมองจากเดิม “มีเสถียรภาพ” เป็น “เชิงลบ” คาดการณ์อัตราส่วนหนี้สูงในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้า เหตุบริษัทเตรียมใช้จ่ายลงทุนโครงการในเวียดนาม บวกสถานการณ์ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น

วันที่ 18 มิถุนายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC เป็นลบ จากมีเสถียรภาพ

ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ฯประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (national rating) ระยะยาว และอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของ SCC ที่ “A+(tha)” และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (national short-term rating) ที่ “F1(tha)”

นอกจากนี้ ฟิทช์ฯประกาศจัดอันดับเครดิตภายในประเทศให้แก่ โครงการหุ้นกู้ระยะกลาง (Medium-term Note Program หรือ MTN) ที่จะมีการออกจำหน่ายของ SCC มูลค่ารวมไม่เกิน 3 แสนล้านบาท ที่ระดับ “A+(tha)”

โดยหุ้นกู้ที่จะออกจำหน่ายภายใต้โครงการ MTN ดังกล่าวเป็นหุ้นกู้ที่ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ โครงการได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCC เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวมีสถานะเท่าเทียมกับหนี้ไม่มีหลักประกัน และไม่ด้อยสิทธิของ SCC

ทั้งนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบของ SCC สะท้อนถึงความเสี่ยงจากอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทที่อยู่ในระดับสูงในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า

ADVERTISMENT

โดยฟิทช์ฯคาดว่าแผนการใช้จ่ายลงทุนที่สูงของบริษัทในปี 2565 ในขณะที่กระแสเงินสดจากธุรกิจเคมิคอลอ่อนแอลง และธุรกิจต้องเผชิญกับภาวะต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น อาจส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (net debt/EBITDA) คงอยู่ในระดับที่สูงกว่า 3.5 เท่า ณ สิ้นปี 2566 ซึ่งเป็นระดับที่ไม่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบันของบริษัท

โดยฟิทช์ฯคาดว่า net debt/EBITDA ของ SCC จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4.5-5.0 เท่า ณ สิ้นปี 2565 (ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2565 อยู่ที่ 3.1 เท่า) ซึ่งเป็นผลมาจากแผนการใช้จ่ายลงทุนขนาดใหญ่ งบประมาณรวมทั้งสิ้น 8.5 หมื่นล้านบาท

ADVERTISMENT

โดยส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนสำหรับโครงการ Long Son Petrochemicals (LSP) ในประเทศเวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะเริ่มสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในปี 2566 ภาวะเงินเฟ้อสูงสร้างความไม่แน่นอนให้กับระยะเวลาที่บริษัทจะสามารถลดอัตราส่วนหนี้สินให้ลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม

อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของธุรกิจหรือกระแสเงินสดที่ได้รับจากโครงการ LSP ที่ต่ำกว่าที่คาด รวมถึงค่าใช้จ่ายลงทุนที่สูงกว่าที่คาดโดยที่ไม่มีการเพิ่มทุน อาจส่งผลกระทบทางลบต่ออันดับเครดิตได้