บทบรรณาธิการ: ผลประกอบการกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

ผลประกอบการไตรมาสสองของบริษัทต่าง ๆ ที่ประกาศออกมาสะท้อนภาพเศรษฐกิจส่วนหนึ่งของประเทศ ว่าบริษัทกิจการยักษ์ใหญ่ฟื้นตัวและยังคงไปได้ด้วยดี ไม่ว่าด้าน อสังหาริมทรัพย์ ธนาคาร โทรคมนาคม หรือการค้าปลีก หลังมีผลประกอบการที่ดีอยู่แล้วในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาด และดียิ่งขึ้นเมื่อโรคระบาดคลี่คลาย

ครึ่งปีนี้บางบริษัททำรายได้ระดับหมื่นล้าน และมีกำไรสูงระดับพันล้านไปแล้ว อีกหลายบริษัทใหญ่ยังมีเงินเหลือพอสำหรับการลงทุนฝ่าปัจจัยลบต่าง ๆ

ดังนั้น แม้จะมีปัจจัยด้านเงินเฟ้อ และราคาพลังงาน บริษัทกิจการเหล่านี้มีแรงที่จะปรับแผนธุรกิจเพื่อสร้างรายได้และทำกำไรต่อไปได้ ทั้งรอดและรวย

ด้านธุรกิจด้านการท่องเที่ยว แม้ช่วง 7 เดือนแรก มกราคม-กรกฎาคม 2565 ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นมาเป็น 3.15 ล้านคน ยังถือว่าเติบโตอย่างช้า ๆ โดยเฉพาะเมื่อย้อนกลับไปเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 หรือก่อนสถานการณ์โควิด ตัวเลขนี้ยังติดลบถึง -86.4%

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งด้านการขนส่ง โรงแรมที่พัก ร้านอาหาร และภาคบริการต่าง ๆ พบว่ารายใหญ่ไปรอด แต่รายกลาง รายเล็ก รายย่อยกำลังเผชิญกับอุปสรรคที่ใหญ่ขึ้นในต้นทุนการผลิตที่ประเดประดังเข้ามารอบด้าน เจอทั้งค่าสาธารณูปโภคสูงขึ้น เงินเฟ้อ และดอกเบี้ยขาขึ้น

ตัวเลขสถิติจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุถึงธุรกิจเลิกประกอบกิจการครึ่งปีแรก 2565 มีจำนวน 6,009 ราย มูลค่ารวมราว 5.8 หมื่นล้านบาท เมื่อพิจารณาตามช่วงทุน พบว่าธุรกิจเลิกประกอบกิจการคือกลุ่มใช้ทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 71.69%

ส่วนตัวเลขจากสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยระบุว่า ผู้ประกอบธุรกิจเกือบ 3 ล้านรายกำลังผจญกับปัจจัยต้นทุนที่ล้วนซ้ำเติมเศรษฐกิจฐานรากฟื้นตัวช้าและอาจกระทบแรงงาน 10 ล้านคนในระบบ ซึ่งจะมีปัญหาหนี้ทั้งในและนอกระบบตามมา

อีกดัชนีหนึ่งคือ ราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ถือเป็นสินค้าของผู้มีรายได้น้อย มาถึงวันนี้รัฐบาลแสดงทีท่าต้องยอมผ่อนคลายการตรึงราคา แม้เคยเป็นผลงานชิ้นเอก หลังจากผู้ประกอบการผนึกกำลังกันเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งรัดปรับขึ้นราคาโดยเร็วที่สุด

โดยยืนกรานว่าต้นทุน ณ ขณะนี้ไม่อาจยืนราคา 6 บาทได้อีก พร้อมชี้ให้เห็นว่าการส่งออกทำกำไรได้มากกว่าการขายในประเทศ แม้การบริโภคบะหมี่ซองภายในประเทศเติบโตขึ้น 3-5%

การดิ้นรนและต่อสู้เรื่องขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ว่าจะเป็นซองละ 7 หรือ 8 บาท เพื่อให้กระทบผู้บริโภคน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับผลประกอบการของบริษัทยักษ์ใหญ่แล้ว ดูจะนำไปสู่คำถามว่าเราอยู่ประเทศเดียวกันหรือไม่