อิออน บุกตลาดแฟชั่นเวียดนาม ส่ง My Closet ชน ยูนิโคล่-H&M

My Closet
คอลัมน์ Market Move

“อิออน เชนค้าปลีกสัญชาติญี่ปุ่น ตัดสินใจขยายแนวรบในตลาดเวียดนาม ด้วยการประกาศรุกไปยังกลุ่มแฟชั่น หวังชิงผู้บริโภครุ่นใหม่กำลังซื้อสูงและพร้อมจับจ่าย เพื่อแย่งชิงตลาดจากเหล่าแบรนด์ดังอย่าง ยูนิโคล่ และเอชแอนด์เอ็ม หลังจากที่ผ่านมาประสบความสำเร็จในการเจาะเข้าสู่ตลาดค้าปลีก ทั้งรูปแบบห้าง อิออน มอลล์ และร้านสะดวกซื้อแม็กซ์แวลู

สำนักข่าว นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า ล่าสุด อิออน รุกตลาดแฟชั่นเวียดนาม ด้วยการส่งไพรเวตแบรนด์ “มาย โคลเซต” (My Closet) และเปิดตัวที่อิออน มอลล์ สาขาบินทาน ในกรุงโฮจิมินห์ พร้อมด้วยไฮไลต์ที่สร้างความฮือฮาให้กับวงการ ด้วยราคาระดับที่เป็นไฟติ้ง โดยสินค้าตัวแพงที่สุดของ มาย โคลเซต มีราคาเพียงแค่ครึ่งหนึ่งของสินค้าจากคู่แข่ง

ทั้งนี้ แบรนด์ มาย โคลเซต มีสินค้าประมาณ 400 เอสเคยู เน้นเสื้อผ้าสไตล์เรียบง่ายสำหรับใส่ในชีวิตประจำวัน อาทิ เสื้อยืด กางเกงขาสั้นในโทนสีพื้น อาทิ แดงและเหลือง เพื่อตอบสนองสไตล์ของผู้หญิงวัย 16-24 ปี ซึ่งเป็นลูกค้าเป้าหมายหลักของแบรนด์

ขณะที่ในแง่ของราคา เฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 50-75% ของสินค้าจากแบบเดียวกันจากแบรนด์อื่น ๆ ในตลาด ตัวอย่างเช่น เสื้อยืดของมาย โคลเซต จะมีราคา 1.5 แสนดอง หรือประมาณ 238 บาท ในขณะที่แบรนด์ตะวันตก หรือแบรนด์ญี่ปุ่นรายอื่นจะตั้งราคาเฉลี่ย 2 แสน-3 แสนดอง หรือประมาณ 316-475 บาท

“ยาสุยูคิ ฟุรุซาวะ” ผู้อำนวยการทั่วไป ของ อิออน เวียดนาม กล่าวว่า เราตั้งเป้าให้ มาย โคลเซต เป็นหัวหอกในการรุกตลาดฟาสต์แฟชั่น

กลยุทธ์ราคาไม่ใช่ไพ่เด็ดเพียงใบเดียวที่อิออนเตรียมไว้ แต่ยักษ์ค้าปลีกยังมีไพ่ใบอื่นเตรียมเอาไว้รับมือการแข่งขันอีก นั่นคือการบริหารซัพพลายเชน ที่จะทำให้สามารถคงระดับราคาสุดจูงใจนี้เอาไว้ได้ในระยะยาว โดย อิออน อธิบายว่า บริษัทจะสั่งผลิตสินค้าดีไซน์ใหม่ ๆ จากผู้ผลิตรายเดิมอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาให้ปริมาณการผลิตสูง ช่วยให้ต้นทุนต่ำอยู่ตลอดเวลา

ต่างจากผู้เล่นรายอื่น ๆ ในตลาดที่มักอาศัยการเปลี่ยนโรงงานผลิตไปเรื่อย ๆ ตามแต่ว่าโรงงานใดมีกำลังผลิตและบุคลากรเพียงพอ ทำให้สินค้าแต่ละรุ่นมีอายุการผลิตสั้นเพียง 1-2 เดือนเท่านั้น

ขณะเดียวกัน จะใช้เครือข่ายการกระจายสินค้าไปยังร้านสาขาจำนวนกว่า 200 แห่ง ที่สร้างขึ้นมาเมื่อตอนวางฐานธุรกิจค้าปลีก มาช่วยกระจายสินค้าแฟชั่นเพื่อให้ต้นทุนด้านขนส่งถูกลง

นอกจากนี้ อิออนยังเปิดเผยว่า จะส่งสินค้าแบรนด์มาย โคลเซต ไปวางขายในช่องทางอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าออฟไลน์ และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของเวียดนาม รวมไปถึงส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่าง มาเลเซียอีกด้วย ยุทธศาสตร์นี้เป็นการปรับใช้การทำตลาดสินค้าไพรเวตแบรนด์ของท็อปแวลูที่ญี่ปุ่นมาเป็นพื้นฐาน ร่วมกับลักษณะเฉพาะของตลาดเวียดนาม

ตลาดอาเซียนถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของอิออน หลังแบรนด์ประกาศเป้าหมายระยะกลาง ที่จะเพิ่มสัดส่วนกำไรจากต่างประเทศ จาก 22% เป็น 25% ของรายได้รวมภายในปีงบฯ 2025 หรือภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2026 ซึ่งตลาดเอเชียเป็นกุญแจสำคัญของการบรรลุเป้านี้ เนื่องจากในปี 2026 นั้น เชนค้าปลีกตั้งเป้าเพิ่มกำไรจากการดำเนินการในตลาดนี้ให้สูงกว่าเมื่อปี 2019 อีกเท่าตัว หรือมากกว่า 1 แสนล้านเยน หรือประมาณ 2.61 หมื่นล้านบาท ทำให้ต้องมุ่งเน้นการพัฒนายุทธศาสตร์เฉพาะแต่ละตลาดขึ้นมา แทนการนำแผนเดิมที่ใช้ในญี่ปุ่นมาใช้ตรง ๆ

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของอิออนเคยกล่าวว่า เวียดนามเป็นตลาดที่สำคัญที่สุดสำหรับแผนสร้างรายได้จากต่างประเทศ และนั่นทำให้ บริษัทมีโครงการลงทุนในตลาดนี้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงตั้งเป้าเปิดซูเปอร์มาร์เก็ตให้ได้ครบ 100 สาขา ภายในปี 2025 หรือเพิ่มจากปัจจุบัน 10 เท่า รวมถึงเพิ่มจำนวนมอลล์อีก 3 เท่า รวมเป็น 16 สาขา

ความเห็นนี้สอดคล้องกับข้อมูลของตลาดเวียดนาม ที่สะท้อนถึงศักยภาพทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการมีจำนวนประชากรเกือบ 100 ล้านคน ทำให้เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่อันดับ 3 ของอาเซียน รองจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ขณะที่อายุเฉลี่ยของประชากรค่อนข้างน้อย เฉลี่ยเพียง 33 ปี และเศรษฐกิจเติบโต 7% ต่อปี

นอกจากนี้ จำนวนชนชั้นกลางยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และผู้บริโภครุ่นใหม่ยังพร้อมใช้เงินที่ตนมีอีกด้วย โดยบริษัทวิจัยสตาร์ทิสต้า คาดการณ์ว่าตลาดแฟชั่นของเวียดนามจะมีมูลค่า 7.33 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025 เติบโตประมาณ 50% จากปี 2021

การเติบโตนี้ทำให้ก่อนหน้านี้แบรนด์ฟาสต์แฟชั่นรายใหญ่ ทั้งยูนิโคล่ และเอชแอนด์เอ็ม ต่างเร่งขยายสาขาและทำตลาดในเวียดนามกันอย่างคึกคัก