ไฟเซอร์ จัดทัพรับโควิดขาลง โฟกัสวัคซีน RSV-ลุยซื้อกิจการ

ไฟเซอร์
คอลัมน์ : Market Move

ในขณะที่ทั่วโลกเริ่มเห็นความหวังที่การระบาดของโรคโควิด-19 จะจบลง และเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ แต่สำหรับธุรกิจยาสถานการณ์นี้มาพร้อมความท้าทาย เนื่องจากความต้องการวัคซีนที่พุ่งสูงมานานกว่า 2 ปี และสร้างเม็ดเงินเป็นกอบเป็นกำกำลังจะลดลงจนแทบหายไป เช่นเดียวกับรายได้ของบริษัท

ทำให้บรรดาบริษัทยารายใหญ่ต้องเร่งวางแผนหารายได้จากสินค้าอื่น ๆ มาอุดช่องว่างที่เกิดขึ้นนี้ หนึ่งในนั้นคือ “ไฟเซอร์” ที่ออกมาประกาศแผน 8 ปี เพื่อสร้างการเติบโตในช่วงปี 2023-2030 หรือยุคหลังโควิด-19

“อัลเบิร์ต บัวร์ลา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไฟเซอร์ กล่าวถึงสถานการณ์ของบริษัทในช่วงปี 2025-2030 ว่า ในช่วงดังกล่าวบริษัทอาจมีรายได้ลดลง 1.6-1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากสิทธิบัตรยาขายดีบางตัวจะหมดอายุการคุ้มครอง เช่น Eliquis สำหรับรักษาลิ่มเลือด, Vyndaqel สำหรับอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ, Xeljanz สำหรับโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์, Ibrance สำหรับมะเร็งเต้านม และ Xtandi สำหรับมะเร็งต่อมลูกหมาก

โดยยา 5 ตัวนี้ถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญของไฟเซอร์ เนื่องจากตามรายงานผลประกอบการล่าสุด ในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา หากไม่รวมรายได้จากวัคซีนและยาโรคโควิด-19 “แพกซ์โลวิด” แล้ว ยา 5 ตัวนี้สร้างรายได้ให้บริษัทในสัดส่วนสูงถึง 40% แต่หลังสิทธิบัตรหมดอายุ จะทำให้ผู้ผลิตรายอื่นสามารถผลิตยาเหล่านี้ได้อย่างอิสระ

สอดคล้องกับความเห็นของนักวิเคราะห์ด้านการลงทุนที่ชี้ว่า นอกจากสิทธิบัตรที่กำลังจะหมดอายุการคุ้มครองแล้ว ยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนของดีมานด์วัคซีนและยารักษาโรคโควิด-19 ในยุคหลังโควิด เนื่องจากสินค้ากลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนถึง 52% ของรายได้รวม

“เรารับรู้ได้ว่า ช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับโอกาสการเติบโตในระยะยาวของไฟเซอร์ แต่เรายังมั่นใจว่าไม่เพียงจะสามารถก้าวข้ามแนวโน้มการหดตัวของรายได้จากการหมดอายุของสิทธิบัตร แต่จะสามารถเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่องไปจนสิ้นทศวรรษนี้ได้แน่นอน” อัลเบิร์ต บัวร์ลา กล่าวกับนักวิเคราะห์ในการแถลงผลประกอบการไตรมาส 3

พร้อมกันนี้ในรายงานผลประกอบการไตรมาส 3 ยักษ์บริษัทยายังปรับคาดการณ์ผลประกอบการปี 2565 ให้สูงขึ้นอีกด้วย โดย “อัลเบิร์ต บัวร์ลา” อธิบายว่า บริษัทจะเพิ่มรายได้อีก 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2573 ทั้งด้วยการเข้าซื้อกิจการและการพัฒนาสายการผลิตยา-วัคซีนใหม่ ๆ ซึ่งจะโฟกัสใน 3 กลุ่มโรค คือ ไวรัส RSV, โรคปวดศีรษะไมเกรน และโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง

สำหรับวัคซีน RSV ทั้งรุ่นสำหรับใช้ในผู้ใหญ่ และรุ่นสำหรับเด็กแรกเกิดซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนานั้น มีศักยภาพที่จะสร้างรายได้ระดับพันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยวัคซีนสำหรับผู้ใหญ่อายุ 60 ปีขึ้นไปนั้นจะมีประสิทธิภาพ สามารถป้องกันการติดเชื้อรุนแรงในทางเดินหายใจส่วนล่างได้ถึง 85% ส่วนวัคซีนสำหรับเด็กแรกเกิด จะมีประสิทธิภาพป้องกันโรคในช่วง 90 วันหลังคลอดได้ 81%

แม่ทัพของไฟเซอร์ยังเปิดเผยว่า มีโอกาสที่วัคซีนสำหรับเด็กแรกเกิดจะออกสู่ตลาดในช่วงท้ายปี 2023 หรือต้นปี 2024 ซึ่งจะทำให้วัคซีนตัวนี้เป็นวัคซีน RSV สำหรับเด็กแรกเกิดตัวเดียวในตลาดสหรัฐอเมริกาที่ใช้การฉีดผ่านมารดาตั้งแต่ในขณะตั้งครรภ์ ส่วนวัคซีนสำหรับกลุ่มสูงวัยน่าจะออกสู่ตลาดในช่วงเวลาเดียวกัน

ทั้งนี้ “อัลเบิร์ต” ย้ำถึงความสำคัญของตลาดวัคซีน RSV ว่า RSV เป็นเซ็กเมนต์ที่มีดีมานด์ล้นอยู่อีกมาก โดยเฉพาะจากกลุ่มสูงวัยและเด็กแรกเกิด ซึ่งบริษัทมั่นใจว่ามีศักยภาพมากพอที่จะสามารถชิงตำแหน่งผู้นำในเซ็กเมนต์นี้ได้

ขณะเดียวกันด้านยาสำหรับโรคปวดศีรษะไมเกรนนั้น จะอาศัยความได้เปรียบจากการเข้าซื้อกิจการบริษัท ไบโอฮาเวน ฟาร์มาซูติคอล เพื่อสร้างพอร์ตโฟลิโอยาไมเกรนที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งจะทำให้มีโอกาสสร้างรายได้จากสินค้ากลุ่มนี้ถึง 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากปัจจุบันเฉพาะในสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวก็มีผู้ป่วยไมเกรนมากกว่า 40 ล้านคนแล้ว

ไปในทิศทางเดียวกับกลุ่มยา โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง ที่ไฟเซอร์เข้าซื้อกิจการอารีน่า ฟาร์มาซูติคอล ทำให้ได้ยาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรังที่อยู่ระหว่างพัฒนามาเสริมพอร์ต ซึ่งเชื่อว่ามีศักยภาพจะสร้างรายได้ระดับพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะในสหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยด้วยโรคนี้กว่า 1 ล้านคน และมีความต้องการการรักษาสูงมาก ทำให้มีแนวโน้มที่เซ็กเมนต์นี้จะเติบโต 50% ใน 5 ปีข้างหน้า ส่วนยาของไฟเซอร์น่าจะสามารถออกสู่ตลาดได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2023

ด้านการเข้าซื้อกิจการนั้น ลำพังปี 2565 นี้ ไฟเซอร์เข้าซื้อกิจการบริษัทยาไปแล้ว 4 บริษัท ด้วยเม็ดเงินรวม 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ได้ยาต่าง ๆ มาเสริมทัพจำนวนมาก และช่วยผลักดันให้บริษัทก้าวหน้าไปประมาณ 1 ใน 3 ของแผนปี 2573 แล้ว

นอกจากนี้ยังมียาและวัคซีนอีก 15 ตัว อยู่ในสายการพัฒนา และคาดว่าจะทยอยออกสู่ตลาดได้ภายในช่วง 18 เดือนหลังจากนี้ และจะสร้างรายได้ประมาณ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2573 รวมถึงยักษ์บริษัทยายังเชื่อว่า ยาและวัคซีนโควิด-19 จะยังคงสร้างรายได้ระดับหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีได้ไปอีกระยะหนึ่ง

ต้องติดตามว่า การคาดการณ์ดีมานด์ยา-วัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์ รวมถึงแผนที่สร้างรายได้ที่วางไว้จนถึงปี 2573 จะเดินหน้าไปตามคาด หรือจะมีเซอร์ไพรส์อื่นเกิดขึ้นระหว่างทาง