ศึกรอบด้านที่ทวิตเตอร์ยังต้องเผชิญ

ทวิตเตอร์
คอลัมน์ : Tech Times
ผู้เขียน : มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

นับตั้งแต่เทกโอเวอร์ “ทวิตเตอร์” มาได้หนึ่งเดือน “อีลอน มัสก์” ไล่พนักงานออกไปกว่า 3 ใน 4 ทำให้แบรนด์ดังหลายบริษัททยอยถอนโฆษณาออกจากทวิตเตอร์ เพราะขาดความเชื่อมั่นในทีมงานใหม่ รวมถึงไม่อยากเอาชื่อเสียงแบรนด์ไปเสี่ยง หลังมีการชุบชีวิตแอ็กเคานต์ที่เคยโดนแบน อย่างของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ให้กลับสู่โลกทวิตเตอร์อีกครั้ง

แต่อภิมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกอย่าง “อีลอน” อาจไม่แคร์กับการสูญเสียรายได้จากการขายโฆษณา เพราะหลังจาก “ปรับโครงสร้างองค์กร” ใหม่แล้ว สิ่งที่เขาทำต่อมาทันที คือการออกบริการ verification ที่มอบเครื่องหมาย blue checkmark ให้กับแอ็กเคานต์ที่ยอมจ่าย 8 เหรียญต่อเดือน เพื่อเป็นแหล่งรายได้ใหม่ทดแทนรายได้จากโฆษณา

ทว่าหลังจากปล่อยบริการออกมาไม่ทันข้ามคืน ก็มีคนสบช่องสร้างแอ็กเคานต์ปลอมออกมาเพียบ ที่ฮาสุดคือ มีแอ็กเคานต์ปลอมของ “อีลอน” ออกมาเยอะมาก จนสร้างความขบขันไปทั่ว “ทวิตภพ” ทำให้ “อีลอน” ต้องประกาศหยุดให้บริการหลังเปิดตัวไปได้แค่ 2 วัน พร้อมสั่งให้ทีมงาน (ที่มีเหลืออยู่น้อยนิด) เร่งหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน

แต่ท่าทางงานนี้จะไม่หมู เพราะล่าสุดต้องประกาศเลื่อนการปล่อยเวอร์ชั่นใหม่ออกไปอย่างไม่มีกำหนด จากเดิมที่คาดว่าจะสามารถใช้งานได้ช่วงปลายเดือนนี้

อย่างไรก็ตาม “อีลอน” ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องเข็นบริการเก็บเงินค่าสมาชิกให้เกิดขึ้นให้ได้ เพราะทุกนาทีที่ผ่านไป หมายถึงดอกเบี้ยที่พอกพูน แถมเขายังมี “ชื่อเสียง” ในฐานะนักธุรกิจอัจฉริยะ เป็นเดิมพัน

ดังนั้น เขาต้องดิ้นสุดชีวิต เพื่อให้การเทกโอเวอร์ครั้งนี้ประสบความสำเร็จ แม้จะเต็มไปด้วยอุปสรรคขัดขวางก็ตาม

หนึ่งในอุปสรรคตัวเบ้ง คือ “ผู้คุมกฎ” ทั้งของอเมริกาเองและยุโรป ที่พร้อมเข้ามาสอบสวนอย่างเข้มข้น หากพบว่ามีการละเมิดกฎการแข่งขันและการปล่อยให้มีคอนเทนต์ที่เข้าข่ายเหยียดเชื้อชาติ ความเชื่อ สีผิว และก่อให้เกิดความเกลียดชังหรือความแตกแยกในสังคม

อีกหนึ่งอุปสรรคมาในนาม เจ้าของ “แอปสโตร์” ที่ใหญ่ที่สุดของโลก ได้แก่ Apple และ Google

ความขัดแย้งระหว่าง “อีลอน มัสก์” กับบิ๊กเทคทั้ง 2 ราย ปรากฏเค้าลางตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ที่เขาออกมาทวิตบ่นดัง ๆ ว่า Apple กับ Google เก็บหัวคิวแพงเกินไป โดยโทษว่าทั้งหมดนี้เกิดการผูกขาดของทั้งสองเจ้า บ่นเสร็จ “อีลอน” ก็จัดการแท็กกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐไปด้วย คล้าย ๆ กับท้าให้ลงมาตรวจสอบหน่อยสิ

สาเหตุที่ “อีลอน” ออกมาโวยวายเรื่องนี้ ก็เพราะว่า 30% ของรายได้ที่เขามุ่งหวังจะได้ค่าสมาชิก Twitter Blue จะหายเข้ากระเป๋า Apple หรือ Google ทันที

และพลันที่เห็นทวิตนี้ของ “อีลอน” ปรากฏขึ้น “ฟิล ชิลเลอร์” ผู้บริหารที่ดูแล Apple app store ฟิล ก็กด “อันฟอล” อีลอน ทันที เหมือนบอกเป็นนัยว่า บ่นได้บ่นไป ฉันไม่แคร์

ความจริง ก่อนที่ “อีลอน” จะเข้ามาเป็น “Chief Twit” คนใหม่ ทั้งทวิตเตอร์และ Apple เคยมีความสัมพันธ์ที่หวานชื่นพอสมควร โดยผู้บริหารของ Apple โดยเฉพาะซีอีโอ “ทิม คุก” มักจะใช้ทวิตเตอร์เป็นแพลตฟอร์มหลักในการเปิดตัวไอโฟน หรือบริการใหม่ ๆ มาตลอด แต่ความสัมพันธ์นั้นอาจกำลังจะจบลงภายใต้การนำของอีลอน

“Yoel Roth” อดีตผู้บริหารทวิตเตอร์ที่ดูเรื่อง Trust and Safety ถึงกับเขียนในบทความใน New York Times ว่า การงัดข้อกับบิ๊กเทคทั้งสอง อาจกลายเป็น “หายนะ” ของทวิตเตอร์

ในฐานะเจ้าของแอปสโตร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก “บิ๊กเทค” ทั้งสองมีอำนาจที่จะเขี่ยแอปไหนออกก็ได้ หากพบหลักฐานว่ามีการละเมิดกฎต่าง ๆ ที่บริษัทกำหนดขึ้น โดยเหตุผลในการแบนแอปใดแอปหนึ่งมีหลากหลาย ตั้งแต่การขาดระบบการรักษาความปลอดภัยที่ดีพอ ไปจนถึงขาดการควบคุมตรวจสอบเนื้อหาให้สอดคล้องกับนโยบายของบริษัท

เช่น ในปี 2020 ทั้งสองบริษัทเคยแบน Parler แพลตฟอร์มโซเชียล ที่ปล่อยให้มีการโพสต์ข้อความยุยงให้เกิดการจลาจลที่รัฐสภาสหรัฐ โดยในปีเดียวกัน Apple ยังรายงานต่อรัฐสภาสหรัฐ ว่าการถอดแอปออกจากแอปสโตร์กว่า 3 หมื่นแอป เนื่องจากมีคอนเทนต์ที่สร้างความขัดแย้ง

นอกจากการแบนแล้ว ทั้ง Apple และ Google ยังสามารถสร้างความเสียหายให้กับเจ้าของแอปได้อีกหลายวิธี เช่น การชะลอการอนุมัติการอัพเดตแอป หรือการชะลอ app review

ทางหนึ่งที่จะรับมือกับปัญหานี้ คือ เลียนแบบ Spotify หรือ Netflix นั่นคือ ประกาศให้ผู้ใช้บริการมาสมัครสมาชิกผ่านเว็บไซต์ของบริษัท แทนที่จะสมัครผ่านแอปเพื่อเลี่ยงการจ่ายค่าธรรมเนียม


คำถามคือ ท่ามกลางปัญหารุมเร้ามากมายที่ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารทวิตเตอร์ต่อไปอย่างไรให้ไม่สะดุดเมื่อทีมงานเหลือไม่ถึง 25% ไปจนถึงการหาทางปั้นบริการ subscription เพื่อเป็นแหล่งรายได้ใหม่ การงัดข้อกับบิ๊กเทคระดับ Apple และ Google พร้อม ๆ กับการรับมือกับผู้คุมกฎ และแรงกดดันจากเจ้าหนี้ จะเป็นการเปิดศึกหลายด้านเกินไปหรือไม่ ?