
คอลัมน์ : Tech Times ผู้เขียน : มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ
หลังปิดดีลเทกโอเวอร์ “ทวิตเตอร์” (twitter) ไปเมื่อสัปดาห์ก่อน “อีลอน มัสก์” ก็ได้กลายเป็นเจ้าของโซเชียลมีเดียที่ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
แต่ถึงจะมีดีกรีเป็นถึงมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลก และเป็นหนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่มีความโดดเด่นที่สุดแห่งยุค อนาคตของทวิตเตอร์ภายใต้อุ้งมือของอีลอน กลับเต็มไปด้วยคำถามและความไม่แน่นอน เขาพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งการปรับผังองค์กร การกำหนดแนวทางดูแลคอนเทนต์ใหม่ และการมองหาลู่ทางรายได้ใหม่ เพื่อลดการพึ่งพารายได้จากโฆษณา
สิ่งแรกที่อีลอนทำคือ ออกคำสั่งไล่ผู้บริหารระดับสูง ตั้งแต่ ซีอีโอ ซีเอฟโอ ยันผู้บริหารด้านกฎหมายออกทันที ตามด้วยการวางแผนลดจำนวนพนักงาน ซึ่งจากแหล่งข่าวของ Washington Post ระบุว่า น่าจะกระทบพนักงาน 25% หรือราว 2 พันคน จาก 7,500 คน
มีรายงานว่าอีลอน สั่งให้ยุบบอร์ดชุดเดิมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีการยื่นไฟลิ่งเพื่อขอถอนหุ้นของทวิตเตอร์ออกจากตลาดหลักทรัพย์ เพื่อจะได้รวบอำนาจมาไว้ในมือแต่เพียงผู้เดียว
ในด้านการบริหารแพลตฟอร์ม อีลอนประกาศตั้ง Content Moderation Council เพื่อทบทวนมาตรการการตรวจสอบเนื้อหาบนแพลตฟอร์ม ซึ่งอาจรวมถึงการยกเลิกการแบนแอ็กเคานต์แบบถาวรเพื่อเปิดพื้นที่ให้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี (free speech) ส่งผลให้หลายฝ่ายกังวลว่าเจ้าของแอ็กเคานต์ที่เคยโดนแบนเพราะทวีตสร้างความเกลียดชังอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ และพวกนิยมความรุนแรงที่มีทัศนคติเหยียดเชื้อชาติ จะกลับมาโลดแล่นบนทวิตเตอร์อีกครั้ง
ความวิตกนี้แผ่ขยายอย่างรวดเร็วหลังจาก Washington Post รายงานว่า ภายในเวลาแค่ 24 ชั่วโมงหลังการเทกโอเวอร์ จำนวน hate speech บนทวิตเตอร์เพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ โดยเชื่อว่าน่าจะมาจากพวกที่อยากลองทดสอบขำ ๆ ดูว่า นโยบาย “free speech” ของอีลอน มัสก์ นั้นจะ “free” ขนาดไหน
แต่เจ้าของแบรนด์รวมถึงเอเยนซี่ที่ซื้อโฆษณาบนทวิตเตอร์ไม่ “ขำ” เพราะไม่มีบริษัทไหนอยากเสียเงินซื้อโฆษณาบนแพลตฟอร์มที่เต็มไปด้วยข้อความที่สร้างความขัดแย้ง
ความกังวลสะท้อนออกมาในเนื้อหาของจดหมายเปิดผนึกที่ส่งถึงอีลอน มัสก์ในนาม The Global Alliance of Responsible Media
เนื้อหาหลักในจดหมายเรียกร้องให้ทวิตเตอร์ปฏิบัติตาม “มาตรฐาน” ของกลุ่มว่าด้วยการควบคุมเนื้อหาบนแพลตฟอร์ม พร้อมย้ำจุดยืนว่า ข้อความที่สร้างความเกลียดชังและส่งเสริมให้เกิดการละเมิดและความรุนแรง จะไม่ได้รับการ “สนับสนุน” ทางด้านโฆษณาจากสมาชิกของกลุ่ม
ทำให้อีลอนต้องรีบออกมาทวีตว่า จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ทั้งสิ้น จนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบคอนเทนต์ใหม่ พร้อมจัดมีตติ้งสร้างความเข้าใจกับบริษัทมาร์เก็ตติ้งและเอเยนซี่โฆษณารัว ๆ
อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่ยังไม่มีความชัดเจน โอกาสที่ลูกค้าจะหั่นงบโฆษณาบนทวิตเตอร์ก็มีความเป็นไปได้สูงอยู่ดี ซึ่งอีลอนก็ตระหนักถึงข้อจำกัดนี้ และพยายามหาทางลดการพึ่งพิงรายได้จากโฆษณา ซึ่งคิดเป็น 90% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัท
ก่อนหน้านี้ มีข่าวหลุดออกมาว่าจะมีการเพิ่มราคาค่าสมาชิกระดับพรีเมี่ยม Twitter Blue จากเดือนละ 4.99 เป็น 20 เหรียญ ซึ่งบริการนี้มาพร้อมกับเครื่องหมายถูกสีฟ้าท้ายชื่อ เพื่อยืนยันว่าเป็นแอ็กเคานต์ที่ถูกต้อง
แต่ผู้ใช้งานดูจะไม่ปลื้มเท่าไร โดยเฉพาะนักเขียนดังอย่าง สตีเฟน คิง ที่ทวีตดุเดือดว่า หากต้องจ่ายราคานี้เขาขอบายดีกว่า ร้อนถึงอีลอนต้องลงมาตอบสตีเฟนด้วยตัวเองว่า ถ้าลดให้เหลือเดือนละ 8 เหรียญล่ะ เอามั้ย เพราะอย่างไรเสีย ทวิตเตอร์ก็ต้องมีรายได้ทางอื่นนอกเหนือจากเงินโฆษณา แต่ผลโพลพบว่าผู้ใช้งานกว่า 80% ก็ยังไม่สนใจจะสมัครบริการนี้อยู่ดี
นอกจากรายได้จากโฆษณาที่มีแนวโน้มว่าจะลดลง และแผนเพิ่มรายได้ที่ยังไม่สะเด็ดน้ำ อีลอนยังต้องเผชิญกับหนี้กว่า 12.5 พันล้านเหรียญที่กู้มาซื้อทวิตเตอร์ ซึ่งนักวิเคราะห์คำนวณว่าภาระหนี้ต่อปีที่เขาต้องจ่ายอาจสูงถึง 1 พันล้านเหรียญ
แม้การเอาทวิตเตอร์ออกจากตลาดหลักทรัพย์ จะเพิ่มความคล่องตัวในการบริหาร เพราะไม่มีสายตาจับจ้องจากผู้คุมกฎและแรงกดดันจากผู้ถือหุ้น แต่แรงกดดันใหม่ที่มาจาก “เจ้าหนี้” ก็ใช่จะรับมือได้ง่ายกว่า เผลอ ๆ อาจมีพลังทำลายล้างสูงกว่าด้วยซ้ำ
นับจากวันที่มี “นายใหม่” อนาคตของพนักงานทวิตเตอร์ก็เหมือนหลุดเข้าไปในหลุมดำ เพราะแทบไม่มีการสื่อสารจากผู้บริหารถึงทิศทางขององค์กรเลย ในขณะที่ลูกค้าก็เริ่มกังวลถึงความเสี่ยงต่อภาพลักษณ์องค์กร ด้วยไม่แน่ใจว่าข้อความโฆษณาของตนจะปรากฏเคียงข้างกับ “hate speech” หรือไม่
ส่วนผู้ใช้บริการที่เคยชอบทวิตเตอร์ จากการเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ส่งเสริมประชาธิปไตย ก็พร้อมจะเปลี่ยนไปใช้แพลตฟอร์มอื่นหากนโยบายตรวจสอบคอนเทนต์ของบริษัทเปลี่ยนไป
และความระส่ำระสายทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายในเวลาเพียงแค่ 2 สัปดาห์ หลัง อีลอน มัสก์ เทกโอเวอร์ กระทั่งปัจจุบันก็ยังไม่มีทีท่าสงบลงง่าย ๆ