ทวิตเตอร์เตรียมระบบ “จ่ายเพื่อใช้” 8 ดอลลาร์/เดือน เริ่มสัปดาห์หน้า

ทวิตเตอร์
Photo by Constanza HEVIA / AFP

สื่อนอกเผย “อีลอน มัสก์” จ่อใช้ระบบจ่ายเพื่อใช้ คิดเงิน 8 ดอลลาร์สหรัฐ/เดือน กับผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่มีป้าย “Twitter Blue” ในสัปดาห์หน้า อ้างเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ผู้ใช้อื่นๆ และกำจัดระบบ “อภิสิทธิ์ชน” ป้องกัน บอต-สแปม นักวิเคราะห์หวั่นกระทบนักเคลื่อนไหวสิทธิ

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 Bloomberg รายงานว่า Twitter Inc. ตั้งเป้าที่จะเริ่มคิดเงินกับ ป้าย Verified Account (บัญชีทางการที่ได้รับป้ายสัญลักษณ์ยืนยันโปรไฟล์ผู้ใช้สีน้ำเงินจากทวิตเตอร์) ในสัปดาห์หน้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนต่อสู้กับบัญชีปลอมและเป็นโมเดลหารายได้ใหม่ หลังจากที่ นายอีลอน มัสก์ เข้าซื้อกิจการทวิตเตอร์ด้วยเงิน 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์

รายงานยังระบุอีกด้วยว่า ป้าย Verified Account (ยืนยันตัวตน) และ Twitter Blue (ป้ายสีน้ำเงินบนพื้นขาว) ดังกล่าวจะใช้สำหรับสมัครสมาชิกที่จ่ายค่าบริการการใช่ 8 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน และจะเริ่มระบบจ่ายเงินนี้มาใช้ในวันจันทร์ (7 พ.ย.) นี้

โดยผู้ใช้ที่มีตรา Verified Account อยู่แล้ว จะมีระยะเวลาผ่อนผันอีกหลายเดือน ก่อนที่จะต้องจ่ายเงินจริง

Bloomberg อ้างแหล่งข่าว ระบุว่า อีกส่วนที่จะมีการพัฒนา คือ “ปุ่มแก้ไข” ซึ่งปัจจุบันมีให้สำหรับผู้ใช้ Twitter Blue ที่จ่าย 4.99 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนเท่านั้น แต่หลังจากนี้จะเปิดให้ผู้ใช้รายอื่นๆ สามารถแก้ไขได้ด้วย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในสัปดาห์นี้

สำหรับแผนการเรียกเก็บเงินนี้ ทำให้ผู้ใช้งานแตกเป็น 2 ฝ่าย ทั้งไม่สนับสนุนและจะไม่จ่ายเงินเพื่อเก็บบัญชีผู้ใช้ไว้ อีกส่วนสนับสนุนรูปแบบธุรกิจใหม่นี้ ซึ่งอ้างว่าเห็นด้วยกับมัสก์ ว่าการกระทำดังกล่าวจะช่วยกำจัด “บอต” หรือ บัญชีสแปม

ในอดีต Twitter ใช้ป้ายตรวจสอบสีน้ำเงินเพื่อยืนยันตัวตน (Verified Account) เพื่อระบุผู้ใช้ ที่มีชื่อเสียงและอาจเสี่ยงต่อการถูกแอบอ้าง เช่น นักข่าว นักการเมือง และนักเคลื่อนไหว และไม่เคยมีการเรียกเก็บเงินสำหรับป้ายสีน้ำเงินดังกล่าว

ซึ่ง มัสก์เปรียบเทียบการให้ความสำคัญของทวิตเตอร์กับผู้ใช้ที่มีชื่อเสียงเหล่านี้ว่าเป็น “ระบบขุนนางและชาวนา” หรือ “อภิสิทธิ์ชน” เนื่องจากพวกเขาเหล่านี้ได้รับความพิเศษและใช้งานฟรีมาตลอด

นักวิจารณ์กล่าวว่าการให้ความสำคัญแก่ผู้ใช้ที่ได้รับการยืนยัน จะหมายความว่าผู้ใช้ที่ไม่จ่ายเงินจะถูกลดทอนเสียงสำหรับการโพสต์หรือไม่

ขณะที่นางสาวอเล็กซานเดรีย โอคาซิโอ คอร์เท็กซ์ ส.ว.นิวยอร์ก จากพรรคเดโมเครต ทวีตวิจารณ์ว่า เป็นเรื่องที่น่าขำมาก ที่มหาเศรษฐีพยายามขายแนวคิดที่ว่าด้วย ‘การพูดโดยเสรี’ อย่างจริงจังนั้น เป็นแผนการให้คนต้องจ่ายค่าสมัครสมาชิกเดือนละ 8 ดอลลาร์สหรัฐ

“ความคิดเห็นของคุณเป็นที่ชื่นชม ตอนนี้คุณก็ต้องจ่าย 8 ดอลลาร์” มัสก์ ทวีตตอบกลับ

รายงานของ Bloomberg ยังระบุด้วยว่า Twitter จะอนุญาตให้บัญชีของรัฐบาลยังคงยืนยันตัวตนได้ เช่นเดียวกับบัญชีในภูมิภาคอื่น ๆ ที่ Twitter ยังไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้

ด้านโฆษกทำเนียบขาว Karine Jean-Pierre กล่าวเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่าประธานาธิบดีและคณะผู้บริหารของเขายังไม่ได้พิจารณาว่าจะต้องจ่ายหรือไม่เพื่อรักษา Verified Account ของหน่วยงานรัฐบาล

ด้านนาย Tim Culpan คอลัมนิสต์ประจำ Bloomberg Opinion แสดงความเห็นด้วยกับมุมมองของ อีลอน มัสก์ ที่เปรียบเทียบการให้ความสำคัญของทวิตเตอร์กับผู้ใช้ที่มีชื่อเสียงเหล่านี้ว่าเป็น “ระบบขุนนางและชาวนา” เนื่องจากโพสต์หรือทวิตเตอร์จากคนมีชื่อเสียงนั้นมีความสำคัญและส่งผลกระทบกับผู้คนเป็นวงกว้าง แม้แต่การทวีตของอีลอน มัสก์ ยังเคยเป็นหลักฐานที่ใช้ปรักปรำเขาในศาลว่าเขาแสดงความเห็นในฐานะ ซีอีโอ ของเทสลา ไม่ใช่คนทั่วไป

อย่างไรก็ตาม นาย Tim Culpan ก็ชี้ให้เห็นข้อบกพร่องว่า หากการจ่ายเพื่อใช้เป็นวิธีที่จะนำมาเปิดตัวจริง สิ่งที่ Twitter กำลังสร้างก็คือแพลตฟอร์มแบบจ่ายเพื่อเล่น (Pay to Play) ที่ขยายผู้ที่มีเงินและจะลดจำนวนผู้ที่ไม่มีเงิน

“แนวคิดลัทธิสังคมนิยมเทียมแบบนี้ คล้ายกับการที่ พระราชินีมารีย์ อองตัวเน็ต บอกว่าหากชาวนาไม่มีขนมปังกิน ก็ให้กินเค้กแทน อาจเป็นอันตรายที่เลวร้ายที่สุด

ลองพิจารณาดูว่า ยังมีนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศที่ถูกกดขี่ ซึ่งใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อแชร์วิดีโอเกี่ยวกับการทุจริตและการละเมิดความเป็นมนุษย์

นอกเหนือจากการไม่สามารถจ่าย 96 ดอลลาร์หรัฐต่อปีได้ พวกเขาอาจไม่สามารถเข้าถึงระบบการชำระเงินที่จำเป็นได้ด้วยซ้ำ และอาจมีเหตุผลที่พวกเขาเหล่านั้นไม่ต้องการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ที่สามารถระบุอัตลักษณ์ตัวตน

ในทางตรงกันข้าม นักการทูตหรือรัฐมนตรีกระทรวงสารสนเทศของประเทศเดียวกันนั้นเต็มใจอย่างยิ่งที่จะออกกฎหมายเพื่อเพิ่มสิทธิและอำนาจที่จะตำหนินักเคลื่อนไหว นักวิจารณ์ และแก้ต่างข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริต ผ่านการจ่ายเงิน