ดีลทวิตเตอร์ บทเรียนลิงแก้แหของ “อีลอน มัสก์”

ทวิตเตอร์
Photo by Chris DELMAS / AFP
คอลัมน์ : Tech Times
ผู้เขียน : มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

และแล้วดีลซื้อทวิตเตอร์ของอีลอน มัสก์ ก็วนกลับมาที่จุดตั้งต้นอีกครั้ง เมื่อเขาแจ้งทวิตเตอร์ว่าจะสานต่อดีลนี้หลังจากเคย “เท” ไปแล้วรอบหนึ่ง

มหากาพย์ดีลทวิตเตอร์ เริ่มต้นในเดือนเมษายน หลังจากเจ้าพ่อ Tesla ประกาศว่าเขาคือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของทวิตเตอร์ และมีแผนจะเข้าเทกโอเวอร์บริษัท ส่งผลให้หุ้นของทวิตเตอร์เด้งรับข่าวดีทันที สวนทางกับหุ้นของ Telsa ที่ร่วงแรง เพราะนักลงทุนกลัวว่าอีลอนจะไม่มีเวลามาบริหารบริษัทเหมือนเมื่อก่อน

แต่ผ่านไปแค่เดือนเดียว อีลอนก็ “เท” ทวิตเตอร์ให้ฝันค้างกลางอากาศ ด้วยเหตุผลที่สุดแสนประหลาดว่า เป็นเพราะทวิตเตอร์ไม่ยอมเปิดเผยตัวเลขบัญชีปลอม หรือบัญชีบอตที่แท้จริง

หลังจากกลายเป็นม่ายขันหมากแบบไม่ทันตั้งตัว ทวิตเตอร์ตัดสินใจกู้ศักดิ์ศรีคืนมาด้วยการฟ้องอีลอน เพื่อบีบให้มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกทำตามสัญญาที่เคยให้ไว้ ซึ่งซีอีโอของทวิตเตอร์ และอีลอน มัสก์ มีนัดสืบพยานอาทิตย์หน้า ก่อนที่ศาลจะเริ่มพิจารณาคดีนัดแรกในวันที่ 17 ตุลาคม

นักวิเคราะห์เชื่อว่า จากเอกสารและพยานหลักฐานต่าง ๆ ทวิตเตอร์มีโอกาสสูงที่จะชนะ และนั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้อีลอนกลับลำ 360 องศา ด้วยการประกาศเดินหน้าซื้อทวิตเตอร์ในราคาเดิมที่เคยตกลงกันไว้ที่ 54.20 เหรียญต่อหุ้น ภายใต้เงื่อนไขว่าจะไม่มีการดำเนินคดีใด ๆ เกี่ยวกับดีลนี้อีกต่อไป

แต่ เอริก ทอลลีย์ จาก Columbia Law School เชื่อว่าทวิตเตอร์ไม่น่าจะยอมถอนฟ้อง เพราะมีบทเรียนมาแล้วว่า อีลอนสามารถชักดาบได้ทุกเมื่อเขาจึงคาดว่า ทวิตเตอร์น่าจะเดินหน้าดำเนินคดีต่อไปจนกว่าจะสามารถปิดดีลอย่างเป็นทางการ

ข่าวนี้ทำให้หุ้นทวิตเตอร์กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง ด้วยการพุ่งขึ้นกว่า 20% ปิดที่ 51 เหรียญ ในขณะที่หุ้น Tesla ก็ร่วงอีกรอบเช่นกัน หลังจากที่ร่วงไปแล้วกว่า 30% นับจากมหากาพย์ทวิตเตอร์เริ่มเปิดฉากขึ้นในเดือนเมษายน และหลังจากผลประกอบการไตรมาสล่าสุดไม่เป็นไปตามเป้า

หลังจากประกาศกลับลำ อีลอนยังทวีตด้วยว่า การซื้อทวิตเตอร์จะช่วยให้การสร้าง “everything app” เป็นจริงเร็วขึ้น กลายเป็นโจทย์ให้สื่อต้องวิเคราะห์กันยกใหญ่ว่า เจ้าแอปที่ว่านี้คืออะไรกันแน่

จนท้ายที่สุด ก็เห็นตรงกันว่า อีลอนน่าจะหมายถึงซูเปอร์แอป อย่าง WeChat ของจีน ที่รวมสารพัดบริการไว้ในแอปเดียว ตั้งแต่แชต เล่นเกม ช็อปปิ้ง ทำธุรกรรมการเงิน สั่งอาหาร จองโรงแรม เรียกแท็กซี่ และอื่น ๆ อีกมากมาย

อย่างไรก็ตาม อีวาน แลม จาก Counterpoint Research มองว่า การจะเปลี่ยนทวิตเตอร์ให้เป็นซูเปอร์แอปไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการแข่งขันที่รุนแรงจากคู่แข่งอย่าง WhatsApp, Facebook, YouTube และ TikTok ที่ต่างอยากเป็นซูเปอร์แอปทั้งสิ้น ประกอบกับกฎระเบียบป้องกันการผูกขาดที่มีความเข้มงวดกว่าเมื่อก่อนมาก ก็ยิ่งทำให้การทำซูเปอร์แอปเต็มไปด้วยความท้าทาย

นอกจากนี้ การที่อีลอนมีโอกาสกลับมาเป็นเจ้าของทวิตเตอร์อีกครั้ง ก็ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า อีลอนจะเดินหน้าผ่อนปรนนโยบายการมอนิเตอร์คอนเทนต์เพื่อส่งเสริม “free speech” อย่างที่เคยประกาศไว้หรือไม่

ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง จะเท่ากับเป็นการเปิดทางให้บัญชีที่เคยโดนแบน (จากการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ หรือข้อความที่สร้างความเกลียดชัง) อย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง และอาจส่งผลให้ผู้ใช้งานเดิมหมดศรัทธาและย้ายไปอยู่แพลตฟอร์มอื่นในที่สุด

ที่น่าเป็นห่วงอีกเรื่องคือ รายได้จากการโฆษณาอาจลดลงด้วย เพราะห้างร้านที่เคยซื้อ ad คงไม่อยากเห็นภาพสินค้าของตัวเองไปปรากฏอยู่บนแพลตฟอร์มที่มีเฟกนิวส์ หรือ hate speech

ไป ๆ มา ๆ เลยไม่รู้ว่าดีลนี้จะส่งผลดีหรือผลเสียต่ออีลอนกันแน่ แต่จากภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่เกิดจากเงื่อนปมที่ผูกขึ้นเองนี้ ทำให้กองเชียร์ต้องลุ้นอย่างหนักว่า อีลอนจะหาทางรับมือกับปัญหาที่เป็นบทเรียนลิงแก้แหอันยุ่งเหยิงนี้อย่างไร


…..