สาระ ล่ำซำ โจทย์ธุรกิจประกันชีวิต “ไม่ง่าย”

สาระ ล่ำซำ
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

ปี 2565 ที่ผ่านมา น่าจะเรียกได้ว่า ธุรกิจประกันชีวิต หายใจหายคอได้คล่องขึ้น หลังจากต้องเผชิญวิบากกรรมจากภาวะดอกเบี้ยต่ำมานานหลายปี โดยอานิสงส์จากแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้สร้างผลตอบแทนได้ดีขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวทำให้กำลังซื้อของผู้คนเริ่มกลับมา

ส่วนทิศทางในปี 2566 นั้น “สาระ ล่ำซำ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมประกันชีวิตไทย ได้ฉายภาพไว้ในการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน เมื่อเร็ว ๆ นี้

ปี2565 เบี้ยประกันโตตามเป้า

โดย “สาระ” กล่าวว่า ภาพรวมเบี้ยประกันชีวิตทั้งระบบในปี 2565 คาดการณ์ว่าจะเติบโตระหว่าง 0-2% เป็นไปตามเป้าหมายของสมาคม อย่างไรก็ดี ตัวเลขจะประกาศอย่างเป็นทางการในเดือน ก.พ. 2566 ทั้งนี้ ตัวเลขที่อัพเดตตอนนี้ช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค. 2665) มูลค่าเบี้ยรับรวมในอุตสาหกรรมขยับขึ้นมาอยู่ที่ 486,624 ล้านบาท ติดลบเหลือ 0.5%

เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากเป็นปีที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) ปรับตัวสูงขึ้นมากจากผลของเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 3/2565 ทำให้หลายบริษัทหยิบสินค้าประกันออมทรัพย์ออกมาขายในตลาดกันมาก

“เบี้ยออมทรัพย์เข้ามาช่วยหนุนภาพรวมเบี้ย และคาดว่าตัวเลขในเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2565 วอลุ่มเบี้ยจะเข้ามาแรงต่อเนื่อง เพราะเป็นฤดูกาลลดหย่อนภาษี แต่อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าสินค้าประกันสะสมทรัพย์ที่ออกมาเล่นในตลาดคงเป็นแค่ภาพระยะสั้นเท่านั้น

เพราะตั้งแต่ไตรมาส 4/2565 บอนด์ยีลด์ก็ปรับตัวลงแรงในระดับ 0.4-0.5% ฉะนั้นหากบริษัทประกันชีวิตวางแผนในการขายไม่ดีจะเจ็บตัวได้ ดังนั้น เราคงจะเห็นการขายสะสมทรัพย์แบบจำกัดวอลุ่ม เช่น ได้วอลุ่มเบี้ยเข้ามา 1-3 พันล้านบาท ก็ปิดการขายทันที ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละบริษัทในการแมตชิ่งกับการลงทุนในแต่ละช่วงเวลา” สาระกล่าว

ประกันสุขภาพยังครองดาวเด่น

ด้านผลิตภัณฑ์ดาวเด่นอย่างประกันสุขภาพ “สาระ” กล่าวว่า เชื่อว่าจะมีอัตราการเติบโตในระดับ 8-9% ทุกปี เพราะหลังสถานการณ์โควิด-19 ประชาชนก็เปิดใจหันมาสนใจซื้อประกันสุขภาพกันเพิ่มขึ้น ขณะที่มาตรฐานประกันสุขภาพฉบับใหม่ ก็ทำให้ลูกค้าสามารถเปรียบเทียบผลประโยชน์แต่ละบริษัทได้ง่าย ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง และยังได้รับการการันตีการต่ออายุ แม้กรณีมีเคลมสูง หรือถึงแม้ว่าเบี้ยประกันจะแพงขึ้นก็ตาม

ส่วนประกันยูนิตลิงก์ยังคงได้รับผลกระทบจากความผันแปรของการลงทุน โดยช่วงที่ผ่านมา ลูกค้าระมัดระวังในการลงทุนทำให้ยอดเบี้ยยูนิตลิงก์ชะลอลง โดยเฉพาะการชำระเบี้ยครั้งเดียว (ซิงเกิลพรีเมี่ยม) ที่ขายผ่านช่องทางธนาคาร (แบงก์แอสชัวรันซ์) และตัวแทนประกันชีวิต แต่ในรูปแบบการชำระเบี้ยรายงวด ยังขายได้ แต่เบี้ยที่เข้ามาเป็นไซซ์เล็ก ซึ่งมีสตอรี่การขายเน้นพอร์ตความคุ้มครองมากกว่าเน้นการลงทุน

ปี2566 เศรษฐกิจโลกท้าทายธุรกิจ

สำหรับการดำเนินธุรกิจในปี 2566 “สาระ” กล่าวว่า คงเป็นอีกปีที่น่าตื่นเต้น แต่แน่นอนว่าการบริหารบริษัทประกันชีวิตมีความยากทุกปีอยู่แล้ว เพราะโจทย์ไม่เคยเหมือนเดิม แต่ตนยอมรับว่าความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย คงเป็นความท้าทายที่จะมีผลต่อธุรกิจ แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ในแง่ของผลกระทบต่อกำลังซื้อประกันหรือการจ่ายเบี้ย ยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจนนัก

ธุรกิจประกันชีวิตบริหารไม่ง่าย

“สาระ” กล่าวด้วยว่า อนาคตจะบริหารแบบมองแต่ส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) อย่างเดียวคงไม่ได้แล้ว เพราะการบริหารธุรกิจประกันชีวิตไม่เหมือนธุรกิจอื่น ที่เป็นการขายเอาเงินมาหักลบต้นทุนแล้วเป็นผลกำไร เพราะประกันชีวิตเป็นผลิตภัณฑ์ระยะยาว ต้องมองในหลายมิติมาก ทั้ง 1.ยอดขาย 2.ผลกำไร 3.การบริหารจัดการต้นทุนภายใต้โลกใหม่

4.การพิจารณาองค์ประกอบด้านกฎหมาย มาตรฐานบัญชี IFRS17 และ IFRS9 หรือความท้าทายด้านเศรษฐกิจ และ 5.ต้องให้ความสำคัญต่อมูลค่ากรมธรรม์ประกันชีวิตหรือผลรวมของกำไรที่คาดว่าจะได้รับตั้งแต่วันแรกจนกระทั่งถึงวันสิ้นสุดสัญญาของกรมธรรม์ (value of new business : VoNB) ซึ่งประเด็นนี้มีความหมายมาก

“การบริหารบริษัทประกันชีวิตในอนาคต เรามองมิติมาร์เก็ตแชร์อย่างเดียวไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะสิ่งสำคัญกว่านั้นมากคือเรื่องมูลค่ากรมธรรม์ (VoNB) เนื่องจากการบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ที่จะมาถึงในปี 2568 หากขายผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าติดลบต้องบันทึกขาดทุนในงบการเงินทันที แต่หากมีกำไรจะต้องทยอยรับรู้ตลอดอายุสัญญา โดยแต่ละบริษัทประกันชีวิตต้องบาลานซ์พอร์ตสินค้าให้มีความยั่งยืน” สาระกล่าว

ทุกบริษัทต้องปรับตัว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา เนื่องจากแบบประกันสะสมทรัพย์เป็นสินค้าหนึ่งที่มีความอ่อนไหวต่อภาวะดอกเบี้ย และด้วยบอนด์ยีลด์ ที่ผันผวนสูงมากในปัจจุบัน ทำให้มูลค่ากรมธรรม์ปริ่ม ๆ หรือติดลบ

ฉะนั้นต่อไปถ้าบริษัทใดปรับตัวไม่ทัน หรือคิดว่าค่อยไปปรับพอร์ต product mix ในตอนนั้นคงลำบาก ทำให้เห็นหลายบริษัท พยายามเปลี่ยนไปขายสินค้าคุ้มครองชีวิตและสุขภาพ (protection & health) ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา เพื่อลดผลกระทบตรงนี้

“เมืองไทยประกันชีวิตหักดิบมา 7 ปีแล้ว ที่เรายอมสโลดาวน์ขายประกันสะสมทรัพย์ ขณะเดียวกันพอร์ตสะสมทรัพย์ที่ชำระเบี้ยครบแล้วแต่ยังคงความคุ้มครองอยู่ (paid-up policy) ก็มีเยอะ แต่เราไม่สามารถขายตัวสะสมทรัพย์ใหม่มากลบได้ เหตุผลเพราะว่าถ้าเราปล่อยแบบนั้นไปนาน ๆ แคร์แค่มาร์เก็ตแชร์ ผลสุดท้าย เราจะลำบากเมื่อมาตรฐานบัญชีใหม่มีผลบังคับใช้ ซึ่งที่ผ่านมาเราพยายามบาลานซ์พอร์ต

ตอนนี้พอร์ตคุ้มครองชีวิตและสุขภาพมีสัดส่วนเกือบ 70% ส่วนที่เหลือ 30% มาจากพอร์ตยูนิตลิงก์, สะสมทรัพย์ และประกันกลุ่ม” ซีอีโอเมืองไทยประกันชีวิตและนายกสมาคมประกันชีวิตไทยกล่าว