หุ่นยนต์เสิร์ฟดีมานด์พุ่ง “จีน-สหรัฐ” ระเบิดศึกแย่งตลาด

หุ่นยนต์เสริ์ฟอาหาร
คอลัมน์ : Market Move

ในยุคหลังโควิด-19 นี้ ปัญหาขาดแคลนแรงงานยังคงเป็นความท้าทายของธุรกิจไทยและทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มที่มีการบริการมาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร โรงแรมที่พัก ฯลฯ ซึ่งยังไม่สามารถหาพนักงานมารองรับลูกค้าจำนวนมากที่กลับใช้บริการได้

แต่ขณะเดียวกันสถานการณ์นี้เป็นโอกาสทองของบรรดาผู้ผลิตหุ่นยนต์ที่จะส่งสินค้าของตนเข้าอุดช่องว่างด้านแรงงานในประเทศต่าง ๆ

หนึ่งในนั้นคือ สตาร์ตอัพระดับยูนิคอร์นจากแดนมังกรที่ปัจจุบันครองส่วนแบ่งตลาดหุ่นยนต์เสิร์ฟอาหารในจีนถึงเกือบ 50% และเตรียมสยายปีกส่งออกหุ่นยนต์เสิร์ฟอาหารไปบุกตลาดต่างประเทศ

สำนักข่าว “นิกเคอิ เอเชีย” รายงานว่า คีนอน โรโบติกส์ (Keenon Robotics) สตาร์ตอัพสัญชาติจีน ประกาศกลับมาเดินหน้าแผนบุกชิงดีมานด์หุ่นยนต์เสิร์ฟอาหารในตลาดโลกอีกครั้ง หลังสบโอกาสจีนประกาศเปิดประเทศ

แม้คีนอนจะเป็นบริษัทหน้าใหม่ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2553 และเริ่มผลิตหุ่นยนต์เสิร์ฟอาหารในปี 2560 แต่ตามข้อมูลของบริษัทวิจัยไอดีซีนั้น สตาร์ตอัพรายนี้ไม่ธรรมดา โดยปี 2564 สามารถครองส่วนแบ่งตลาดหุ่นยนต์เสิร์ฟอาหารในจีนได้ถึง 49% ด้วยหุ่นยนต์เสิร์ฟอาหารที่มีรูปร่างคล้ายชั้นหนังสือสูงประมาณช่วงอกของมนุษย์ และเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงสุดประมาณ 1 เมตร/วินาที หรือ 3.6 กิโลเมตร/ชั่วโมง รวมถึงบรรทุกน้ำหนักได้ 40 กิโลกรัม

ไม่เพียงตำแหน่งเจ้าตลาดในประเทศบ้านเกิด สตาร์ตอัพสัญชาติจีนรายนี้ ยังนับเป็นผู้เล่นรายหลักในตลาดโลกอีกด้วย หลังข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ร้านอาหารนอกประเทศจีน อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใช้หุ่นยนต์ของคีนอนรวมกันมากถึง 10,000 ตัว ขณะที่อีก 25,000 ตัว ใช้งานในประเทศจีน

“วาน บิน” ประธานฝ่ายปฏิบัติการของคีนอน โรโบติกส์ กล่าวว่า ภายในปี 2568 บริษัทจะขยายจำนวนหุ่นยนต์ที่ใช้งานอยู่ทั่วโลกให้มากขึ้นเป็น 3-5 เท่าของปัจจุบัน พร้อมกับจะพยายามให้สัดส่วนจำนวนหุ่นยนต์ที่ลูกค้าต่างประเทศใช้เพิ่มจาก 30% เป็น 50% ด้วย

ทั้งนี้ คีนอนเริ่มเร่งสปีดแผนรุกตลาดนอกแดนมังกรมาตั้งแต่ปี 2565 ด้วยการเดินสายปักธงตั้งบริษัทย่อยในตลาดหลักต่าง ๆ ทั่วโลกรวม 6 แห่ง ประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และฮ่องกง รวมถึงขยายไลน์หุ่นยนต์สำหรับธุรกิจโรงแรม ซึ่งมีไฮไลต์อยู่ที่สามารถขึ้นลิฟต์ได้ และสามารถรู้ได้ด้วยว่าลิฟต์แน่นเกินไปหรือไม่ ด้วยเซ็นเซอร์ที่จะสแกนจำนวนผู้โดยสารในลิฟต์ หากพบว่าแน่นเกินไป หุ่นยนต์จะรอลิฟต์ตัวถัดไปแทน นับเป็นการต่อยอดจากหุ่นยนต์เสิร์ฟอาหารที่มีเซ็นเตอร์ตรวจจับสิ่งกีดขวางเพื่อป้องกันการชน

ด้วยฟังก์ชั่นเหล่านี้ และระดับราคาเข้าถึงง่ายประมาณ 1 หมื่น-3 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ ทำให้หุ่นยนต์ของคีนอนได้เปรียบคู่แข่งในทั้งตลาดยุโรป สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น

“สาเหตุที่เราสามารถตั้งราคาระดับนี้ได้ เพราะการวางรากฐานซัพพลายเชนในจีนจนสมบูรณ์ และยังสามารถหาชิ้นส่วนต่าง ๆ ได้ในราคาถูกอีกด้วย” ประธานฝ่ายปฏิบัติการของคีนอน โรโบติกส์ กล่าว

ขณะที่สถาบันอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติของจีนคาดการณ์ว่า ปี 2566 นี้ ตลาดหุ่นยนต์บริการทั่วโลกจะเติบโตจนมีมูลค่า 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 15% จากปี 2565 ด้วยกระแสความต้องการใช้งานหุ่นยนต์บริการในหลากหลายธุรกิจนอกเหนือจากร้านอาหาร ทั้งค้าปลีก สถานพยาบาล สถานศึกษาและอื่น ๆ

ในขณะเดียวกัน ตลาดหุ่นยนต์บริการในจีนมีแนวโน้มเติบโต 28% ซึ่งสูงกว่าตลาดโลก แต่หากเทียบด้านมูลค่าแล้ว เม็ดเงินในแดนมังกรมีสัดส่วนเพียง 30% ของตลาดโลกเท่านั้น

แม้จะดูเหมือนเป็นการขยายธุรกิจแบบก้าวกระโดด แต่การตั้งฐานใน 6 ตลาดนี้ยังช้ากว่าความตั้งใจเดิมของบริษัท โดยเมื่อปี 2564 โฆษกของบริษัท กล่าวว่า ตั้งเป้าเข้าไปตั้งบริษัทใน 10 ประเทศภายในสิ้นปี ความล่าช้านี้คาดว่าเป็นเพราะผลกระทบจากนโยบายซีโร่โควิดของรัฐบาลจีน ทำให้ทั้งคีนอนและผู้ผลิตหุ่นยนต์รายอื่น ๆ ต้องชะลอแผนขยายธุรกิจของตนออกไป และธุรกิจในประเทศเองยังไม่ฟื้นตัวด้วยเช่นกัน ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ระบุว่า ปี 2565 โรงงานต่าง ๆ ผลิตหุ่นยนต์บริการลดลงไปถึง 30%

อย่างไรก็ตาม ปี 2566 นี้ ทิศทางตลาดหุ่นยนต์บริการในจีนกลับมาฉายแววสดใส โดย “ซ่ง เสี่ยวกัง” กรรมการบริหารและเลขาธิการ พันธมิตรอุตสาหกรรมหุ่นยนต์จีน กล่าวว่า ความต้องการหุ่นยนต์บริการจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพสังคมสูงวัยและปัญหาขาดแคลนแรงงาน

ท่ามกลางกระแสเติบโตนี้ ผู้ผลิตหุ่นยนต์รายอื่น ๆ ต่างขยับตัวหันลุยตลาดโลกเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น พูดู เทคโนโลยี ผู้เล่นเบอร์ 2 ของตลาดหุ่นยนต์เสิร์ฟในประเทศจีน และเป็นผู้เล่นใหญ่ในตลาดโลกเช่นเดียวกัน โดยโฆษกของบริษัทกล่าวว่า บริษัทส่งออกหุ่นยนต์ไปให้ลูกค้าในต่างประเทศมากกว่า 5.6 หมื่นตัว ในจำนวนนี้ 3 พันตัวให้บริการในเชนร้านสกายลาคที่ประเทศญี่ปุ่น

สาเหตุที่หุ่นยนต์ของพูดูได้รับความนิยม มาจากดีไซน์คล้ายแมวและยังสามารถสนทนาแบบง่าย ๆ กับพนักงานหรือลูกค้าในร้านได้ด้วย

นอกจากนี้ยังมีผู้เล่นสัญชาติอเมริกันอย่าง แบร์ โรโบติกส์ ที่ผลิตหุ่นยนต์สำหรับงานดูแลในชื่อ เซอร์ไว (Servi) ซึ่งเชนร้านอาหารในญี่ปุ่นนำมาใช้ เช่น ร้านกิว-คาคุ และร้านยากินิคุ คิงส์


ความเคลื่อนไหวเหล่านี้สะท้อนถึงความคึกคักในวงการหุ่นยนต์บริการทั้งงานเสิร์ฟและงานบริการในโรงแรมที่จะคึกคักในปี 2566 นี้ หลังผู้ผลิตรายใหญ่ในจีนกลับมาลงสนามอีกครั้งหลังห่างหายไปนาน