สมองไอทีแม้กายอัมพาต

computer
คอลัมน์ : Tech Times
ผู้เขียน : มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

จะดีแค่ไหนหากวันหนึ่งเทคโนโลยีจะทำให้ผู้ป่วยอัมพาตสามารถเขียนอีเมล์ ช็อปปิ้ง เล่นโซเชียล หรือทำธุรกรรมทางการเงินด้วยตัวเองได้อีกครั้ง ?

ความจริงเทคโนโลยีที่เชื่อมต่อสมองกับคอมพิวเตอร์ หรือ brain-computer interface (BCI) นั้นมีมานานแล้ว แต่ยังไม่แมสสักที เพราะมีความซับซ้อนสูง

แต่ Synchron สตาร์ตอัพที่มีตัวพ่ออย่าง บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้ง Microsoft และ เจฟฟ์ เบโซส ผู้ก่อตั้ง Amazon เป็นผู้ลงทุนหลัก ได้จุดประกายความหวังให้ผู้ป่วยที่สูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหวหรือสื่อสารขึ้นอีกครั้ง

เพราะการทดลองเทคโนโลยี BCI ในคนดูท่าจะเป็นไปด้วยดี ทำให้มีสิทธิ์ขึ้นแท่นเป็นเจ้าแรกที่จะนำเทคโนโลยี BCI ออกสู่ตลาด

โดยอุปกรณ์หลักของบริษัทมีชื่อว่า Stentrode ซึ่งเป็นขดลวดที่จะสอดผ่านเส้นเลือดเพื่อนำเซ็นเซอร์ไปฝังบริเวณสมองที่ควบคุมการเคลื่อนไหว

โดยส่วนปลายขดลวดจะเชื่อมต่อกับเครื่องรับสัญญาณขนาดเล็กที่ฝังอยู่บริเวณหน้าอก ซึ่งจะเป็นตัวส่งสัญญาณมายังอุปกรณ์แปลงค่าที่อยู่ภายนอกอีกที

ข้อดีของเทคโนโลยีนี้คือ เป็นการเชื่อมต่อการสั่งการของสมองกับอุปกรณ์ภายนอกโดยใช้วิธีผ่าตัดแบบส่องกล้องที่มีแผลเล็ก ซึ่งแตกต่างจากเทคโนโลยี BCI อื่นที่ยังใช้วิธีผ่าตัดกะโหลกที่ต้องอาศัยศัลยแพทย์ประสาทเท่านั้น

ปัจจุบัน Synchron ได้ทดลองในผู้ป่วยอัมพาตและผู้ป่วยจากอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงทั้งหมด 6 คน โดย 4 คนอยู่ในอเมริกา และอีก 2 คนอยู่ในออสเตรเลีย

วิดีโอบนเว็บไซต์ของบริษัทบอกเล่าเรื่องราวของผู้เข้าร่วมทดลองรายแรก ซึ่งป่วยด้วยอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่แขนไปจนถึงมือ แต่หลังจากเข้าร่วมทดสอบระบบ เขาก็สามารถส่งเมสเสจและอีเมล์ผ่านคอมพิวเตอร์ได้ด้วยตัวเองอีกครั้ง แม้จะเป็นข้อความสั้น ๆ แต่ก็ทำให้รู้สึกดีว่าสามารถช่วยเหลือตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งคนอื่น

ทอม ออกซ์ลีย์ ซีอีโอของบริษัท เปรียบเทียบการทำงานของ Stentrode ว่าคล้ายการส่งคำสั่งผ่าน bluetooth คือผู้ใช้สามารถส่งคำสั่งตรงไปยังคอมพิวเตอร์โดยไม่ต้องคลิกเมาส์ หรือพิมพ์คำสั่งใด ๆ อาศัยเพียงแค่สมองและสายตาของตัวเองในการสั่งการเท่านั้น

ซึ่งหลังจากเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์แล้ว ผู้ใช้งานสามารถส่งข้อความ-อีเมล์ เล่นโซเชียล เสิร์ชข้อมูล หรือทำธุรกรรมออนไลน์ได้เหมือนคนทั่วไป นอกจากนี้ ยังสามารถควบคุมอุปกรณ์ สมาร์ทโฮม อื่น ๆ ได้อีกด้วย

ในปี 2021 Synchron เป็นบริษัทแรกที่ FDA อนุญาตให้ทดลองในคนได้ และต่อมาในเดือนธันวาคม ปี 2022 บริษัทก็สามารถระดมทุนได้กว่า 75 ล้านเหรียญ โดยมีไมโครซอฟท์เป็นหนึ่งในผู้ลงทุน

ปีเตอร์ ยู หนึ่งในผู้บริหารยอมรับว่า เทคโนโลยี BCI ของบริษัทอาจไม่เปอร์เฟ็กต์ เพราะไม่ได้เป็นการฝังอุปกรณ์ไปที่สมองโดยตรง จึงทำให้ได้รับสัญญาณจากสมองไม่ครบถ้วน

แต่อย่างที่เกริ่นไว้ ข้อดีของ Synchron คือ ใช้วิธีการสอดท่อผ่านเส้นเลือดซึ่งไม่ใช่การผ่าตัดใหญ่ ทำให้มีโอกาสจะเข้าถึงผู้ป่วยมากกว่าการฝังชิปที่สมอง ซึ่งต้องใช้ศัลยแพทย์ด้านประสาทและสมอง (จากข้อมูลบน https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/ พบว่าทั่วโลกมีศัลยแพทย์ประสาทและสมองเพียงแค่ 4.9 หมื่นคนเท่านั้น)

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา วารสารทางการแพทย์ JAMA Neurology ยังได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาถึงผลกระทบของการทดสอบเทคโนโลยี BCI ของ Synchron ในออสเตรเลียไว้ด้วยว่า อุปกรณ์ของบริษัทยังคงอยู่ในสภาพดีและสามารถส่งสัญญาณได้เต็มประสิทธิภาพตลอดช่วงเวลาของการติดตามผลการทดสอบเป็นเวลา 12 เดือน

ทอม ออกซ์ลีย์ บอกว่า เป้าหมายของ Synchron คือ นำนวัตกรรมนี้ออกสู่ตลาดให้ได้เร็วที่สุด เพื่อที่ผู้ที่สูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหวหรือการสื่อสารได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เทคโนโลยีของ Synchron นั้นโดดเด่นจนเตะตาคู่แข่งอย่าง อีลอน มัสก์ ซึ่งเป็นเจ้าของ Neuralink ที่พัฒนาเทคโนโลยี BCI เหมือนกัน โดยรอยเตอร์รายงานว่า อีลอน มัสก์ มีการติดต่อขอร่วมลงทุนใน Synchron ในปีที่ผ่านมา แต่ทั้งสองบริษัทปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อข่าวนี้

แฟนคลับของอีลอน มัสก์ คงรู้ดีว่า อีลอนตื่นเต้นกับ BCI อย่างมาก และพยายามผลักดันให้มีการทดลองในคนให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้ชิงความได้เปรียบในการเป็นผู้นำตลาด แต่จนแล้วจนรอดเทคโนโลยีของ Neuralink ก็ยังไม่ได้รับการอนุญาตจาก FDA ให้ทดลองในคนสักที

เอาเป็นว่า ตอนนี้เจ้าไหนสามารถผลิตเทคโนโลยีที่ใช้งานได้จริงและเข้าถึงคนได้ง่ายขึ้น เจ้านั้นก็น่าจะได้ทั้งเงินและกล่อง เพราะมีคนมากมายที่เฝ้ารอใช้งานอยู่