บทบรรณาธิการ : แข่งพนันสัตว์ อย่าเกินเลยประเพณีท้องถิ่น

ไก่ชน
Photo by Haidar HAMDANI / AFP
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

การออกหนังสือด่วนที่สุดถึง ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้ซักซ้อมแนวทางอนุญาต จะให้มีการเล่นการพนันประเภทให้สัตว์ต่อสู้กัน โดยให้เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตใช้ดุลพินิจอย่างเหมาะสม ไม่เป็นการทรมาน หรือทารุณกรรมสัตว์ ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ลงนามโดย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เท่ากับเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการ “อนุญาต” ให้เปิดบ่อนการพนันสัตว์ต่อสู้หรือแข่งขันกันได้โดยถูกกฎหมายหลังจากที่ต้องปิดบ่อนมานาน

หนังสือฉบับนี้ได้อ้างถึงเหตุผลของการอนุญาตเปิดให้เล่นพนันไว้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้คลี่คลายอยู่ในระดับที่รัฐบาลสามารถควบคุมได้แล้ว กับเพื่อเป็นการส่งเสริมขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่น อันเป็นทางนำมาซึ่งรายได้กับชุมชนอาชีพที่สุจริต และป้องกันแรงงานพลัดถิ่น

โดยอนุญาตให้เปิดบ่อนเล่นการพนันชนโค การเล่นการพนันชนไก่ และกัดปลา การเล่นการพนันแข่งขันวัวลาน การเล่นการพนันแข่งขันม้า ซึ่งการพนันเหล่านี้จัดอยู่ในประเภทบัญชี ข. หมายเลข 1 ตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478 สามารถจัดให้มีขึ้นเพื่อเป็นทางนํามาซึ่งผลประโยชน์ให้แก่ผู้จัดโดยทางตรงหรือทางอ้อมได้

ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีหรือเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต เห็นสมควรและออกใบอนุญาตให้ หรือมีกฎกระทรวงอนุญาตให้ เฉพาะในท้องถิ่นให้ นายอำเภอหรือปลัดอำเภอเป็นเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตให้ใช้ “ดุลพินิจ” พิจารณาอนุญาตให้เล่นได้

การเล่นการพนันจะเกี่ยวข้องกับบุคคล 2 กลุ่ม ได้แก่ ผู้จัดให้เล่นหรือเจ้าของบ่อน กับผู้เล่นการพนัน ผู้จัดให้เล่นจะหวังผลประโยชน์จากการพนัน ขณะที่ผู้เล่นจะเป็นผู้เสี่ยงโชคทำนายทายผลภายใต้ฉากหน้าที่ว่า เป็นการส่งเสริมขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น ส่วนรัฐในฐานผู้อนุญาตก็จะได้รายได้จากภาษีจากการเปิดให้มีการเล่นพนันเป็นครั้งคราวไม่เกินกว่าที่กำหนด

แต่เนื่องจากการเล่นพนันให้สัตว์ต่อสู้กันนั้น หมายถึงการเปิดบ่อน จำเป็นที่ เจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตจักต้องชั่งน้ำหนักระหว่าง “รายได้” จากหนึ่งที่จะเกิดขึ้นกับชุมชน และสองที่จะเกิดขึ้นกับรัฐ กับผลเสียมากมายที่เกิดจากการพนัน ไม่ว่าจะเป็นการเกิดเศรษฐกิจนอกระบบ ผู้มีอิทธิพล การเรียกเก็บส่วย การเกิดขึ้นของนักพนันหน้าใหม่ ไปจนกระทั่งถึงการสร้างความหวังให้กับคนไทยที่จะก้าวข้ามความยากจนไปสู่ฐานะร่ำรวยด้วยการเสี่ยงโชค

จึงสมควรที่ผู้มีอำนาจหน้าที่จะต้องลงมากำกับดูแลการใช้ “ดุลพินิจ” อย่าให้เกินเลยไปกว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายตาม พ.ร.บ.การพนันปี 2478 เพื่อเป็นการส่งเสริมขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นอย่างเป็นครั้งเป็นคราว จนเลยเถิดเป็นสนามแข่งขันสัตว์พนันถาวรในที่สุด