
คอลัมน์ : รอบนอก ผู้เขียน : ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์
ช่วงที่ผ่านมามีข่าวใหญ่ “วิกรม กรมดิษฐ์” ประกาศมอบทรัพย์สินส่วนตัวมูลค่าราว 2 หมื่นล้านบาทเข้า “มูลนิธิอมตะ” สานต่อเจตนารมณ์เพื่อประโยชน์สาธารณะ หวังยกระดับคุณภาพสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจผ่านกิจกรรม ทั้งส่งเสริมวงการศึกษา ศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรม นวัตกรรม เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนในสังคม
“ประชาชาติธุรกิจ” ขอนำเสนอบทความของ “ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์” อดีตประธาน บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ที่เขียนเรื่อง “บริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคม ทางเลือกในการทำ ESG” มาเป็นข้อเสนอภาคธุรกิจในการวางโมเดลดังต่อไปนี้
- โปรดเกล้าฯ พระราชทานยศทหารเป็นกรณีพิเศษ รวม 699 ราย
- คดีทักษิณ-ขออภัยโทษ
- “พิธา” คาดตั้งรัฐบาลเร็วขึ้น 2-3 สัปดาห์ สั่งเตรียมพร้อมแถลงนโยบาย
หลังจากที่พระราชบัญญัติวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้ ปัจจุบันมีการจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคม ในการทำกิจการที่เป็นสาธารณประโยชน์เพื่อสังคม โดยมีกลุ่มบุคคลที่จะทำธุรกิจแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม จำนวนไม่มาก
จากข้อมูล (ปี 2563) มีประมาณ 145 ราย โดยแบ่งเป็นประเภทไม่แบ่งปันผลกำไรให้ผู้ถือหุ้น 123 ราย และประเภทแบ่งปันผลกำไร 22 ราย เท่าที่ทราบปัจจุบันมีรวมประมาณ 178 ราย ซึ่งที่ผ่านมาก็ยังไม่พบว่าวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ประสบความสำเร็จในการที่จะเจริญเติบโตมีกำไร และสามารถขยายเครือข่ายในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคมได้มากนักตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
ผมคิดว่าความล้มเหลว หรือการไม่บรรลุพันธกิจของวิสาหกิจเพื่อสังคมในประเทศไทยอาจเกิดจากหลายสาเหตุ
1.ขาดเงินทุนที่เพียงพอที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง และยังมีต้นทุนสูงกว่าธุรกิจที่หวังผลกำไรทั่วไป
2.ขาดความรู้การบริหารจัดการที่ดีทั้งด้านการเงิน การจัดการ การตลาด (ขาดระบบนิเวศที่ช่วยขับเคลื่อน)
3.ขาดทรัพยากรบุคคล ที่มีความรู้ความสามารถในการขับเคลื่อน
4.ขาดความเข้าใจระหว่างกลุ่มลูกค้ากับชุมชน ซึ่งจะทำให้เกิดการทิ้งภารกิจเพื่อสังคมได้ง่าย
5.ภาครัฐเข้าไปกำกับดูแลมากเกินไป
ดังนั้น หากองค์กรธุรกิจหรือองค์กรสาธารณกุศลใด ๆ ก็ตามที่มีความประสงค์ในการดำเนินธุรกิจเพื่อประโยชน์ส่วนรวมในด้านการศึกษา สังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ให้สอดรับกับพันธกิจขององค์กรธุรกิจในเรื่องสิ่งแวดล้อม (environment) สังคม (social) และการกำกับดูแลกิจการ (governance) หรือ ESG การเลือกรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคมแบบไม่มีกำไรมาแบ่งปันน่าจะเป็นรูปแบบที่ดีที่สุดและมีประสิทธิภาพที่สุดในการทำงานเพื่อบรรลุพันธกิจในเรื่อง ESG และบรรลุผลได้อย่างเป็นรูปธรรม
เนื่องจากผมได้เคยมีโอกาสศึกษาการจัดทำร่างพระราชบัญญัติวิสาหกิจเพื่อสังคมในสมัยที่เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และยังได้มีโอกาสเข้าไปเป็นกรรมาธิการของการร่างพระราชบัญญัติวิสาหกิจเพื่อสังคมในขั้นตอนการพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในช่วง พ.ศ. 2562 ผมมีความเชื่อว่าบริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคมจะเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการที่จะพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม และสร้างความโปร่งใสให้กับธุรกิจได้ หากได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้ถูกวิธี
ปัจจุบัน ESG เป็นเรื่องที่ทุกองค์กรต้องตระหนักในความสำคัญ เพราะกฎระเบียบการค้าการลงทุนในประเทศและระหว่างประเทศบังคับให้ต้องทำ ไม่ใช่เป็นทางเลือก เพราะ ESG ไม่ใช่แค่เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR)
ผมได้มีโอกาสได้เข้าไปทำงานเป็นประธานกรรมการ บริษัท ชีวามิตรวิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งเป็นองค์กรวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ไม่เอากำไรมาแบ่งปัน ก็ถือว่าประสบความสำเร็จพอสมควร หลังจากใช้เวลามากว่า 5 ปี ด้วยเพราะมีทุนจากบริษัทและมูลนิธิใหญ่เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการที่มีชื่อเสียงได้รับการยอมรับ มีผู้บริหารที่มีความสามารถ และสามารถตอบโจทย์ของผู้ที่อยู่ในสภาวะเจ็บป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ จึงอาจเป็นตัวอย่างแค่ส่วนน้อยที่สามารถประสบความสำเร็จ
ประกอบกับการได้มีโอกาสนั่งเป็นกรรมการ ทั้งบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทนอกตลาด รวมถึงเป็นกรรมการตลาดทรัพย์แห่งประเทศไทย และรับผิดชอบดูงานของ ESG จึงพบว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก หากองค์กรธุรกิจต้องการจะบรรลุพันธกิจ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมพัฒนาในเรื่องสิ่งแวดล้อม การศึกษา สุขภาพ สังคม เพื่อให้ตอบโจทย์ของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดได้ ต้องมีองค์กรที่ขับเคลื่อนให้เกิดผลสำเร็จ
ในอดีตองค์กรธุรกิจมักจะทำงานในรูปแบบการบริจาคที่เป็นการทำงานเพื่อสังคม (CSR) เป็นโครงการ ๆ ไป อาจไม่ได้มีการติดตามผลการทำงานและประเมินผลสัมฤทธิ์อย่างใกล้ชิด
รวมถึงใช้รูปแบบ “มูลนิธิ” ทำกิจการสาธารณกุศลเพื่อสังคม โดยบริษัทอาจให้เงินตั้งมูลนิธิเป็นการเริ่มต้น หรือบริษัทบริจาคผ่านมูลนิธิต่าง ๆ หรือเจ้าของธุรกิจจัดตั้งมูลนิธิขึ้น และบริจาคเงินของตนเองเพื่อการกุศล
แต่ในภาวะเศรษฐกิจมีปัญหา การขอเงินบริจาคก็ยากเป็นเงาตามตัว ทำให้พันธกิจของมูลนิธิเพื่อ ESG ต้องชะลอหรือยกเลิกไปโดยปริยาย
ส่วนตัวจึงมองว่ารูปแบบการใช้มูลนิธิเพื่อบรรลุเป้า ESG จึงไม่น่าจะเป็นรูปแบบที่ดีและเหมาะสมในปัจจุบัน และเสนอว่าควรใช้กลไกมูลนิธิที่มีอยู่ในองค์กรธุรกิจปัจจุบัน ร่วมกันกับองค์กรต่าง ๆ จัดตั้งก็เป็น “วิสาหกิจเพื่อสังคม” ในการขับเคลื่อนพันธกิจเรื่อง ESG หรือองค์กรที่ยังไม่มีมูลนิธิก็ควรพิจารณาตั้งเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมทำงานแทนจะมีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากกว่า
ผมชวนคิดว่า ถ้ามูลนิธิที่ปัจจุบันมุ่งทำธุรกิจเพื่อสังคม หรือเพื่อสาธารณกุศลในประเทศไทยทั้งหมด ที่มีเงินกองทุนมากพอสมควร มาร่วมกันจัดตั้งเป็นบริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคม มาทำงานเพื่อสังคมส่วนรวม แล้วมาประเมินดูว่าจะเกิดผลดีกับประเทศชาติและสังคมและบรรลุพันธกิจเรื่อง ESG ได้ดีกว่าหรือไม่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการจัดตั้งที่มีบริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ไม่ได้เอากำไรมาแบ่งปัน เพื่อใช้ความมีประสิทธิภาพของภาคเอกชนเข้ามาบริหารจัดการ ไม่ว่าด้านเงินทุน บุคลากร การตลาด กฎหมาย ที่จะขับเคลื่อนให้วิสาหกิจเพื่อสังคมเหล่านั้นมีผลกำไร หรือรายได้ และขยายกิจการ โดยมีพันธมิตรเอกชนในภาคส่วนต่าง ๆ ในการทำธุรกิจต่าง ๆ ตามเป้าหมายของตนร่วมกับชุมชน ก็จะได้รับประโยชน์เพื่อบรรลุเป้าหมายและพันธกิจในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย และความโปร่งใสในการกำกับดูแลกิจการได้