กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ มือกฎหมาย M&A ถอดรหัส ทรูควบดีแทค

ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์
ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์

อุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของธุรกิจยุคดิจิทัล กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในสองผู้เล่นรายใหญ่ หลังจากเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา “กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์” (GULF) ปิดเกมเข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งของ “อินทัช โฮลดิ้งส์” ด้วยสัดส่วน 42.25% และกลายเป็นผู้ถือหุ้นทางอ้อมในบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS และส่งผลต่อการเปลี่ยนโครงสร้างและทีมบริหารครั้งใหญ่

และเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2564 “ทรู คอร์ปอเรชั่น” (TRUE) และ “โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น” (DTAC) ก็ประกาศดีลการควบรวมกิจการต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกลายเป็นประเด็นร้อน และตั้งคำถามถึงทิศทางอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยในอนาคตที่จะอยู่ในมือผู้เล่นรายใหญ่แค่สองราย

ความสำเร็จของดีลไม่ใช่แค่สองบริษัท

ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ อดีตประธาน บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ มือกฎหมายด้านควบรวมกิจการ (M&A) ให้สัมภาษณ์ถึงมุมมองดีลการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE กับ DTAC ในมิติต่าง ๆ รวมถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ว่าดีลควบรวมนี้มีมูลค่าประมาณ 250,000 ล้านบาท

นับได้ว่าเป็นดีลที่ใหญ่ที่สุดอีกครั้งหนึ่งของตลาดทุนไทย แต่ขณะเดียวกัน ก็มีความกังวลของนักวิชาการและสภาผู้บริโภคในเรื่องการผูกขาดและการมีอำนาจเหนือตลาดไม่น้อย

“ดีลนี้ถือว่าเป็นแนวทางที่ดีของทั้งสองบริษัท เรียกว่า win-win แต่ความสำเร็จของดีลนี้ควรจะเป็นความสำเร็จของทุกภาคส่วน ไม่ใช่แค่ความสำเร็จของสองบริษัทเท่านั้น แต่จะต้องทำให้ประชาชนผู้บริโภคได้รับการบริการที่ดีขึ้นและเป็นธรรม พร้อมสร้างอีโคซิสเต็มที่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและไม่ทำให้รายได้ภาครัฐหายไปในอนาคต”

และหากกรณีดีลควบรวม TRUE และ DTAC ประสบความสำเร็จ มองว่าจะสร้างปัญหาให้กับ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) และจะทำให้เหลือผู้เล่นแค่ 2 เจ้าใหญ่เท่านั้น คือ กลุ่ม TRUE+DTAC กับกลุ่ม AIS และ NT อาจจะกลายเป็นปัญหาของภาครัฐต่อไปในอนาคต

ถอดรหัสดีลควบรวม “ทรู-ดีแทค”

ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์กล่าวว่า จากที่ทั้งสองบริษัทประกาศศึกษาการควบรวมกิจการแบบ equal partnership ที่เป็นการควบกิจการ “แบบแลกหุ้น” และจะทำให้เกิด “บริษัทใหม่” ที่จะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯแทน หมายความว่าในอนาคตบริษัท TRUE กับ DTAC จะหายไปโดยผลของกฎหมาย ซึ่งคาดว่าดีลจะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2565 ของบริษัทใหม่ที่เกิดขึ้น

และจากที่มีประสบการณ์ทำดีล M&A มาหลากหลายธุรกิจ ขอแยกประเด็นต่าง ๆ ในมุมมองด้านกฎหมาย ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเป็น 7 ประเด็น ดังนี้

1.การควบรวมของ TRUE และ DTAC เป็นการควบรวมแบบ horizontal mergers เพื่อขยายธุรกิจ เช่น กรณีกลุ่ม ปตท.ที่ควบบริษัทของ PTTAR (ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น) กับ PTTCHEM (ปตท. เคมิคอล) กลายเป็น PTT GC ซึ่งเข้มแข็งมากในปัจจุบัน

2.เป็นการผนึกกำลังทั้งด้านการเงิน การจัดการ และการเพิ่มอำนาจทางการตลาดให้กิจการใหญ่ขึ้น ทำให้มี economy of scale

3.ควบรวมกิจการโดย “ไม่ต้องใช้เงินสด” แต่แลกหุ้น ยกเว้นในส่วนของการทำคำเสนอซื้อ (เทนเดอร์ออฟเฟอร์) จากผู้ถือหุ้นของ DTAC และ TRUE และเป็นการทำคำเสนอซื้อแบบมีเงื่อนไข คือ จะตกลงซื้อต่อเมื่อได้หุ้นร้อยละตามที่กำหนด เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นใน TRUE เช่น China Mobile ขายหุ้นออก เป็นต้น

4.ต้องมีการตรวจสอบสถานะทางการเงินและกฎหมาย (due diligence) เป็นกระบวนการสำคัญก่อนที่คณะกรรมการจะลงมติให้ควบรวมกิจการ และต้องประชุมผู้ถือหุ้นทั้งสองบริษัท เพื่อลงมติควบบริษัททั้งสองเข้าด้วยกันเป็นบริษัทใหม่ มาเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แทน และรับโอนทั้งสิทธิ-หน้าที่และใบอนุญาตต่าง ๆ บริษัทเดิมคือ TRUE และ DTAC จะหายไปและต้องมีการชำระบัญชี

ดีล M&A แลกหุ้น “ไม่ต้องเสียภาษี”

5.การควบกิจการโดยวิธีการแลกหุ้นในโมเดลของทรูและดีแทคจะ “ไม่มีภาระภาษี” กับทั้งสองบริษัท และในระดับผู้ถือหุ้นไม่ว่าผู้ถือหุ้นที่เป็นบุคคลธรรมดา นิติบุคคลไทยและต่างประเทศ ซึ่งประโยชน์ทางภาษีในการควบกิจการในรูปแบบนี้ถือว่าเป็น win-win ทั้งคู่

ต่างกับการทำ M&A ในรูปแบบการซื้อขายหุ้น หรือซื้อทรัพย์สิน จะมีภาระภาษีบริษัทและผู้ถือหุ้นสูงมากหากมีกำไรเกิดขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง และนิติบุคคลไทยที่ถือหุ้นอยู่อาจต้องเสียภาษีถึง 20%

กรณีนี้มีแต่ผู้ถือหุ้นที่เป็นนิติบุคคลที่เสนอขายหุ้นในการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์เท่านั้นที่จะไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

6.บริษัท ซิทริน โกลบอล จำกัด ที่จะเป็นบริษัทร่วมทุน 50/50 จะเป็นบริษัทที่ไปลงทุนในเทคโนโลยีและดิจิทัลในฐานะเป็น VC รวมทั้งลงทุนในอีโคซิสเต็มของธุรกิจด้านเทคโนโลยีเพื่อก้าวไปสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยีขยายการลงทุนในระดับภูมิภาค

“อำนาจเหนือตลาด” สำคัญกว่ามาร์เก็ตแชร์

ประเด็นสุดท้ายคือ การควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC จะสำเร็จลงได้จะต้องผ่านด่านการอนุญาตของคณะกรรมการ กสทช. รวมถึงคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าป้องกันไม่ให้มีการผูกขาด และเพื่อประโยชน์กับผู้บริโภค

แม้ว่าการควบรวม “ทรู+ดีแทค” จะทำให้มีส่วนแบ่งการตลาดเกิน 50% และกลุ่ม AIS มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 48-49% แต่ในการพิจารณาอนุมัติอนุญาตของ กสทช. หรือคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ประเด็นเรื่อง “อำนาจเหนือตลาด” จะสำคัญมากกว่า “ยอดลูกค้า” หรือส่วนแบ่งตลาด

เรื่อง “อำนาจเหนือตลาด” จะดูประเด็นของรายได้เป็นหลัก ปัจจุบันรายได้ของ AIS มากกว่ารายได้ของทรูและดีแทครวมกัน

อย่างไรก็ดี การควบรวมของ “ผู้รับใบอนุญาต” นอกจากต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการ กสทช. กำหนดไว้แล้ว ยังต้องปฏิบัติตามกฎหมายแข่งขันทางการค้า (มาตรา 21) และประกาศของ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการควบรวมและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553

คณะกรรมการ กสทช. และคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า อาจ “อนุญาต” โดยกำหนดเงื่อนไข หรือ “ไม่อนุญาต” เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม เพราะทำให้กิจการโทรคมนาคมและเทคโนโลยีของไทยจะเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ