กระจกสะท้อน ESG ของกิจการ

ESG
คอลัมน์ : Smart SMEs
ผู้เขียน : ดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ESG คำนี้ มักปรากฏอยู่ในเนื้อหาบทความ รวมถึงเป็นประเด็นพูดคุยในงานสัมมนาต่าง ๆ ในช่วงปีที่ผ่านมา รวมถึงปีนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับด้านธุรกิจ

โดยกล่าวว่า ESG หรือแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ที่ตั้งอยู่บนความรับผิดชอบขององค์กรใน 3 ด้านหลัก ก็คือ สิ่งแวดล้อม สังคม การกำกับดูแล หรือที่มาจากคำว่า environment, social และ governance หรือตัวย่อว่า ESG นั่นเอง

มีความสำคัญเป็นอย่างมากในโลกการทำธุรกิจในทั้งปัจจุบันและอนาคต จากความกดดันของกระแสการรักษาสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ทั้งจากผู้บริโภค สังคม เศรษฐกิจ รวมถึงมาตรการด้าน ESG ที่มีกำหนดในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมต่าง ๆ จนมีการพูดว่า ESG ถือได้ว่าเป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับธุรกิจนั้น ๆ ได้กันเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการด้าน ESG ขององค์กรก็จำเป็นที่จะต้องเป็นเรื่องที่จับต้องและวัดผลได้ด้วยเช่นกัน

ซึ่งแนวคิดในการวัดผลหรือประเมินด้าน ESG ขององค์กร ๆ หนึ่งนั้น จะคำนึงถึงองค์ประกอบต่าง ๆ อันได้แก่ การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการด้านสภาพภูมิอากาศด้านลดการปล่อยคาร์บอนหรือเป้าหมาย net zero การเปิดเผยข้อมูลด้านสังคมที่โปร่งใสและมีโครงการที่คำนึงถึงสังคม การเคารพสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม การพัฒนาศักยภาพแก่พนักงาน การจูงใจและรักษาพนักงาน สุขภาวะและความปลอดภัยในสภาพแวดล้อมการทำงาน

การมีส่วนร่วมกับชุมชนสังคมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการแก้ปัญหาเพื่อความยั่งยืน บรรษัทภิบาลของผู้นำบริษัทและผู้บริหารระดับสูง จรรยาบรรณธุรกิจ (code of conduct) และการต่อต้านการทุจริต การบริหารความเสี่ยงและภาวะวิกฤต การบริหารจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้า การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน นวัตกรรมทางธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม การประเมินด้าน ESG ขององค์กรก็จำเป็นจะต้องมีหน่วยงานภายนอกที่เชื่อถือได้ มาช่วยในการประเมินด้วยเช่นกันจึงจะเป็นที่ยอมรับในระดับสากล กรุงศรีฯได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้และพร้อมสนับสนุน ESG ให้เกิดขึ้นในธุรกิจทุกระดับ โดยในปีนี้ธนาคารได้มีการร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย สมาคมธุรกิจเพื่อสังคม กรมพัฒนาธุรกิจการค้า องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำโครงการ Krungsri ESG Awards ขึ้นเพื่อยกย่องและส่งเสริมลูกค้าธุรกิจของธนาคารที่สามารถนำแนวคิด ESG ไปปรับใช้อย่างสร้างสรรค์และต่อยอดกิจการได้อย่างเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง

รวมถึงเป็นต้นแบบให้ผู้ประกอบการรายอื่นเล็งเห็นประโยชน์และความสำคัญของโมเดลธุรกิจแบบ ESG ที่ถือเป็นสิ่งจำเป็นของการดำเนินกิจการในทุกระดับต่อไปในอนาคต

การทำ ESG ขององค์กรที่ประสบความสำเร็จ สิ่งที่สำคัญที่สุดในการปรับแผนการดำเนินธุรกิจเข้าหาแนวทางความยั่งยืนก็คือ การที่ผู้ประกอบการต้องมีจิตสำนึกเพื่อความยั่งยืน หรือ sustainability mindset มีการตั้งคำถามว่าการกระทำขององค์กรของเราส่งผลกระทบทางด้านลบต่อใครบ้าง และเราจะสามารถแก้ไขผลกระทบนั้นได้อย่างไร เช่น การผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ของเราได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ พนักงานของเราได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงและบริษัทมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนรอบด้านหรือไม่

รวมไปถึงพิจารณาการดำเนินกิจการของบริษัทว่ามีนโยบาย กับการดูแลกิจการที่ดี ต่อต้านการทุจริต ดำเนินงานอย่างโปร่งใส และคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือไม่

ซึ่งเชื่อว่าถ้าองค์กรสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็สามารถนำ ESG มาเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับธุรกิจ ดังคำกล่าวที่ว่า “ESG ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดให้กับธุรกิจ”