6 ทิศทางความยั่งยืน ปี 2566 ESG เป็นใบเบิกทางสร้างโอกาสธุรกิจ

คาด 6 ทิศทางความยั่งยืน ปี’66 ESG เป็นใบเบิกทางสร้างโอกาสธุรกิจ
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์

สถาบันไทยพัฒน์ฯ คาดการณ์ 6 ทิศทางความยั่งยืนของภาคธุรกิจไทย ปี 2566 จุดกระแส ESG จากที่เป็นปัจจัยความเสี่ยงขององค์กร สู่ปัจจัยที่ใช้เป็นโอกาสทางธุรกิจ ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนของกิจการตามทิศทางกระแสโลก

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566 ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่าปัจจุบัน ESG (Environmental, Social and Governance) ไม่ได้เข้ามามีบทบาทเพียงในแง่ของความเสี่ยงที่กระทบกับธุรกิจ หรือถูกมองว่าเป็นภาระค่าใช้จ่ายทางเดียว แต่ยังเป็นผลกระทบที่ก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจ และถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ช่วยเพิ่มยอดขายและลดต้นทุนของกิจการ

ซึ่งหากธุรกิจสามารถจับกระแสในเรื่องนี้ แล้วแปลงมาเป็นโจทย์ทางธุรกิจได้ ก็จะทำให้กิจการได้ประโยชน์จากเรื่อง ESG ในฐานะที่เป็นใบเบิกทาง สู่ตลาดใหม่ ๆ

ในปีนี้สถาบันไทยพัฒน์ ได้ประมวลแนวโน้มการขับเคลื่อน ESG ของภาคธุรกิจไทย ไว้เป็น 3 ธีมสำคัญ ได้แก่

LEAN รับมือเศรษฐกิจโลกถดถอย

ภาคธุรกิจจำเป็นต้องเพิ่มความคุ้มค่า มากกว่ามูลค่า จากการดำเนินงาน เช่นการบริหารการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและการจัดการของเสีย หรืออีกนัยหนึ่งคือการรีดไขมันส่วนเกินจากการใช้ทรัพยากรนำเข้าที่ด้อยประสิทธิภาพอันเป็นบ่อเกิดของความสูญเปล่า อาทิ การผลิตเกิน การขนส่ง การรอคอย สินค้าคงคลัง การชำรุด การมีกระบวนการมากเกินไป และการเคลื่อนย้ายที่ไม่จำเป็น ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้กิจการพัฒนาปรับปรุงไปสู่การเป็น Lean Enterprise สำหรับรองรับภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในปีนี้ 

CLEAN เพื่อสังคมที่มีสุขภาวะ

จะเห็นว่าขณะนี้ สังคมไทยกำลังเผชิญกับความเสื่อมถอยทางจริยธรรมในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ทั้งการรับสินบนและการทุจริตเกิดขึ้นในทุกภาคส่วน ทุกระดับโดยไม่เกรงกลังกฏหมาย อีกทั้งหน่วยงานป้องกันและปราบปรามต้องเผชิญกับการขาดความเป็นอิสระและได้รับอิทธิพลแทรกแซงจากภายนอก รวมทั้งการสมรู้ระหว่างฝั่งผู้ที่ถูกกล่าวหากับฝั่งผู้ที่มีอำนาจเหนือหน่วยงาน เพื่อร่วมกันปกปิดข้อเท็จจริง และขัดขวางกระบวนการยุติธรรมอย่างโจ่งแจ้ง

GREEN ที่มากกว่าคำมั่นสัญญา

การที่ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีสมาชิกสหประชาชาติ ที่เข้าร่วมในความตกลงปารีส ได้ประกาศเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 40 ภายในปี ค.ศ.2030 และวางเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ.2050 รวมทั้งการบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.2065 ให้ได้จริงนั้น ทุกฝ่ายต้องร่วมลงมือปฏิบัติกันอย่างจริงจังมากกว่าการให้คำมั่นสัญญาที่เป็นเพียงแค่เจตนารมณ์

นอกจากนี้ ยังประเมินทิศทางความยั่งยืน ปี 2566 ใน 6 ทิศทางสำคัญ ดังต่อไปนี้

1.ESG as an Enabler หรือ ESG จะเป็นใบเบิกทางสู่ธุรกิจใหม่ ๆ ธุรกิจที่ต้องสร้างความยั่งยืนให้แก่กิจการ จะนำเรื่อง ESG มาใช้เป็นโจทย์ทางธุรกิจ เพื่อค้นหาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองต่อตลาดตามทิศทางและกระแสโลกที่คำนึงถึงการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเด็นความหลากหลาย ความเสมอภาค และการไม่ปิดกั้นบนพื้นฐานการดำเนินงานที่โปร่งใส 

2.Industry-specific Taxonomy หน่วยงานกำกับดูแลในประเทศไทยจะริเริ่มจัดทำแนวทาง และการแบ่งหมวดหมู่ ประเด็นด้าน ESG จำเพาะรายอุตสาหกรรมที่ตนเองกำกับดูแล ทั้งในภาคธนาคาร ภาคตลาดทุน ภาคประกันภัย ภาคพลังงาน ภาคโทรคมนาคม ฯลฯ ตามความพร้อมของหน่วยงาน และแรงผลักดันจากตลาดที่มีความต้องการนำเรื่อง ESG มาขับเคลื่อนในอุตสาหกรรมนั้น ๆ 

3.Double Materiality กิจการที่ต้องการภาพลักษณ์ด้านความยั่งยืนให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ต้องแสดงถึงความตระหนักในความคาดหวังของผู้ลงทุน ที่มีต่อการสร้างคุณค่ากิจการ ด้วยสารัตถภาพเชิงการเงิน (Financial Materiality) รวมทั้งความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียที่มี ต่อการสร้างผลบวกทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยสารัตถภาพเชิงผลกระทบ (Impact Materiality) ควบคู่กัน 

4.Climate Action จํานวนของบริษัทไทยที่ทําการประกาศเป้าหมาย Carbon Neutrality และเป้าหมาย Net Zero จะมีจํานวนเพิ่มขึ้น สอดรับกับความเคลื่อนไหวในเรื่องการออกกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะเปลี่ยนผ่านการดําเนินงานจากภาคสมัครใจมาสู่ภาค บังคับ รวมทั้งการส่งเสริมกลไกทางตลาดในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในรูปของการซื้อขายคาร์บอนเครดิต

5.Lean Operation ธุรกิจที่เดิมยึดหลัก “Doing more with best” ด้วยการแสวงหาความเป็นเลิศในทุกด้าน จะหันมาเตรียมรับภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นสูงในปีนี้ พร้อมกับประเมินความเสี่ยงต่อการถูกดิสรัปชันจากเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ ด้วยการกระชับต้นทุนและขนาดของกิจการ สู่การเป็น Lean Operation ภายใต้หลัก “Doing more with less” ซึ่งจะมีส่วนช่วยลด คาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กรอีกทางหนึ่ง

ยกตัวอย่างในอุตสาหกรรมไฮเทคต่างประเทศ บริษัทเทคขนาดใหญ่หลายรายได้มีการประกาศลดคนอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดค่าใช้จ่ายและต้นทุน จากสัญญาณทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย รวมทั้งมีการตื่นตัวในการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษย์ (AI) มาใช้ในธุรกิจ เพื่อทดแทนแรงงานคน เช่น ซอฟท์แวร์ ChatGPT ในการสื่อสาร ตอบคำถาม สืบค้นข้อมูล

หรือในอุตสาหกรรมการเงินไทย แบงก์ชาติกำลังมีการจัดทำหลักเกณฑ์ การอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้เทคโนโลยี และบริการดิจิทัล ได้นำเสนอบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ ผ่านช่องทางดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะพร้อมรับคำขอจัดตั้ง Virtual Bank ได้ในปีนี้

6.Proof of Governance ธุรกิจที่ประกาศแนวทางการดําเนินงานโดยยึดกรอบ ESG นอกจากการแสดงความรับผิดชอบต่อการดําเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมแล้ว ยังต้องมีการพิสูจน์ธรรมาภิบาล (Proof of Governance) ด้วยการแสดงให้เห็นถึงภาระรับผิดชอบในระดับคณะกรรมการ ที่เหนือกว่าความรับผิดชอบในระดับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ตามบทบาทฐานะของผู้นําหรือผู้รับผิดชอบสูงสุดขององค์กร