ธุรกิจรีไซเคิลรับแรงกระแทก รัฐบาลแบนนำเข้าเศษพลาสติก

รีไซเคิล พลาสติก
คอลัมน์ : ระดมสมอง
ผู้เขียน : สุคนธ์ทิพย์ ชัยสายัณห์
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ หลังปี 2568 เป็นต้นไป โดยในปี 2566 และปี 2567 ภาครัฐจะยังผ่อนผันการนำเข้าเศษพลาสติกในพื้นที่เขตปลอดอากร

เฉพาะโรงงานอุตสาหกรรม 14 แห่งที่กำหนด ได้แก่ โรงงานทั้งหมดที่ใช้เศษพลาสติกเป็นวัตถุดิบในการผลิตเพื่อส่งออก ที่ตั้งอยู่ในเขตปลอดอากรให้นำเข้าได้ 100% และไม่เกิน 50% ของความสามารถในการผลิตจริง หรือ 372,994 และ 186,497 ตันต่อปี ตามลำดับ

รวมทั้งผ่อนผันการนำเข้าเศษพลาสติกในพื้นที่ทั่วไป เฉพาะกรณีที่ไม่มีเศษพลาสติกภายในประเทศ หรือมีปริมาณไม่เพียงพอ สำหรับเป็นวัตถุดิบในการผลิตเท่านั้น ก่อนจะยกเลิกการนำเข้าเศษพลาสติกทั้งหมดในปี 2568

มาตรการห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานพลาสติกอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากโรงงานรีไซเคิลจะรับซื้อขยะพลาสติกภายในประเทศ ร่วมกับการนำเข้าเศษพลาสติกเพื่อนำมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล

ซึ่งในช่วงปี 2556-2560 ไทยใช้เศษพลาสติกนำเข้าจากต่างประเทศมาแปรรูปเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลเฉลี่ยราว 8 หมื่นตันต่อปี หรือราว 15% ของเศษพลาสติกรีไซเคิลทั้งหมด แต่ในปี 2565 ไทยนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นถึง 13%YOY มาอยู่ที่ 1.79 แสนตัน หรือราว 25% ของเศษพลาสติกรีไซเคิลทั้งหมด

Krungthai COMPASS คาดว่าผลกระทบจากมาตรการห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ กอปรกับราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มลดลง จะทำให้ราคารับซื้อขยะพลาสติกของโรงงานรีไซเคิลในปี 2568 อยู่ในช่วง 14.8-15.8 บาทต่อกิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้น 10-17% เมื่อเทียบกับราคารับซื้อขยะพลาสติกในปี 2565 โดยราคารับซื้อขยะพลาสติกที่ปรับตัวขึ้นจะส่งผลบวกต่อธุรกิจร้านรับซื้อของเก่าที่ขายให้โรงงานรีไซเคิล

แต่คาดว่าจะส่งผลลบต่ออัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจโรงงานรีไซเคิลลดลงราว 10% ต่อกิโลกรัม และในระยะสั้น ผู้ประกอบการธุรกิจอาจเผชิญภาวะอุปทานขยะพลาสติกตึงตัว

อย่างไรก็ดี หากไทยมีระบบจัดการขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ คาดว่าปริมาณขยะพลาสติกภายในประเทศจะสามารถชดเชยปริมาณเศษพลาสติกนำเข้าและเพียงพอต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศสูงถึงราว 1.2-1.4 แสนล้านบาทต่อปี เนื่องจากในแต่ละปีไทยมีปริมาณขยะพลาสติกหลังการบริโภคเฉลี่ยมากถึง 2-2.5 ล้านตัน

แต่ขยะพลาสติกเหล่านี้ถูกนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพียง 20% หรือประมาณ 5 แสนตันต่อปีเท่านั้น สอดคล้องกับอัตราการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ (recycling rate) ของไทยยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศ

อีกทั้งมาตรการห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศมีแนวโน้มจะเป็นแรงผลักดันให้ภาครัฐส่งเสริมการใช้ขยะพลาสติกภายในประเทศมากขึ้น และจะทำให้ขยะพลาสติกที่ยังไม่ได้นำกลับมาใช้ประโยชน์อีกประมาณ 1.5-2 ล้านตันต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติกประเภท PET, PE และ PP ที่มีอยู่จำนวนมากภายในประเทศ สามารถเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้อีกจำนวนมาก ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการนำเข้าของภาคอุตสาหกรรมที่ราว 6.8 แสนตันต่อปี ในปี 2568

นอกจากนี้ หากผู้ประกอบการของไทยนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายในปี 2570 หรือราว 1.5 ล้านตันต่อปี ตามเป้าหมาย roadmap การจัดการขยะพลาสติกของภาครัฐจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 1.55 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับการปลูกป่า 130 ล้านต้น คิดเป็นพื้นที่ป่า 1.3 ล้านไร่ หรือราว 1.3 เท่าของพื้นที่กรุงเทพฯ

เนื่องจากการนำขยะพลาสติกภายในประเทศกลับมารีไซเคิลจะช่วยลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงในการผลิตวัตถุดิบตั้งต้นใหม่ (virgin material) รวมทั้งช่วยลดการฝังกลบ หรือการเผาขยะพลาสติก

Krungthai COMPASS แนะนำผู้ประกอบการรีไซเคิลพลาสติกจำเป็นต้องวางแผนจัดหาขยะพลาสติกภายในประเทศให้เพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ที่พึ่งพาการนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศในสัดส่วนที่สูง รวมทั้งต้องเริ่มปรับตัวในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกให้สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ 100% ขณะที่ภาครัฐควรมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้ประชาชนคัดแยกขยะจากต้นทางอย่างจริงจัง

รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการรีไซเคิล และส่งเสริมความร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลขยะพลาสติกเพื่อการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ควรออกมาตรการส่งเสริมการใช้ขยะพลาสติกภายในประเทศ เช่น

มาตรการกำหนดสัดส่วนการใช้วัสดุรีไซเคิลขั้นต่ำ (recycled content) ในการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก เพื่อกระตุ้นให้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มหันมาใช้พลาสติกรีไซเคิลภายในประเทศมากขึ้น