เวียดนามไฟดับ สะเทือนถึง “นักลงทุนไทย”

เวียดนามไฟดับ
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : กษมา ประชาชาติ

กรณีประเทศเวียดนามเริ่มวางแผนเวียนดับไฟฟ้าทั่วประเทศ รวมถึงพื้นที่เศรษฐกิจในเมืองฮานอยและโฮจิมินห์ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ทำให้บางพื้นที่ต้องดับไฟนานถึง 7 ชั่วโมง เพื่อรับมือกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นจากสภาพอากาศร้อนจัด ปัญหาขาดแคลนเชื้อเพลิง เนื่องจากถ่านหินที่นำเข้าจากประเทศอินโดนีเซียล่าช้าไม่เป็นไปตามแผน ประกอบกับเขื่อนขนาดใหญ่ 13 แห่งของเวียดนามได้เดินเครื่องไปในช่วงที่ก๊าซมีราคาแพง จึงมีปริมาณน้ำอยู่ในระดับวิกฤต นับเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความตื่นตกใจในบรรดานักลงทุนไม่น้อย

เวียดนามเป็นประเทศที่มีประชากร 100 ล้านคน เศรษฐกิจก็เติบโตปีละ 7% มาตลอด แม้ว่าจะมีโควิดแต่จีดีพีเวียดนามไม่กระทบกระเทือนมากนัก มีนักลงทุนต่างชาติรวมถึงไทยแห่เข้าไปลงทุนตั้งฐานการผลิตและส่งออกสินค้าจากเวียดนามไปยังตลาดต่าง ๆ ที่ทำความตกลงเปิดการค้าเสรี (FTA) กว่า 50 ฉบับ ทั้งความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ความตกลงเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (EVFTA) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งจะได้สิทธิพิเศษจากการลดภาษีมากกว่าการลงทุนในไทยที่ไม่มีทั้งเอฟทีเอ CPTPP หรือไทย-ยูโรป ทั้งยังขาดแคลนแรงงานกว่า 5 แสนคนต้นทุนค่าแรงก็สูง และต้นทุนค่าไฟฟ้าก็แพงกว่าเท่าตัว “นักลงทุน” เริ่มฮึมขู่ว่าจะย้ายฐานไปเวียดนาม หากรัฐบาลไม่ปรับลดค่าไฟฟ้าลงไปอีก

กระทั่งเกิด “ปัญหาไฟดับ” จึงเกิดการตั้งคำถามว่าหลังจากนี้อาจจะลมเปลี่ยนทิศหรือไม่ อุตสาหกรรมที่ต้องการความเสถียรด้านพลังงานอาจจะหันกลับมามองไทยเป็นทางเลือกหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นผลสเต็ปต่อไป

               

แต่อีกด้านนี่อาจจะเป็นโอกาสของ “ผู้ผลิตไฟฟ้าของไทย” ในการขยายการลงทุนไปเวียดนาม

แหล่งข่าวในวงการพลังงานมองว่า สาเหตุที่ไฟดับเพราะเดิมเวียดนามมีการพัฒนาโรงไฟฟ้าไม่สอดคล้องกับการเติบโต มุ่งโปรโมตพลังงานหมุนเวียนทั้งลม และโซลาร์อย่างมาก ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าพลังงานหมุนเวียนไม่ได้
มีความเสถียร หากมีอุปสรรคเรื่องดินฟ้าอากาศ ก็ทำให้การผลิตไฟฟ้าไม่ได้ตามแผน

รัฐบาลทราบถึงความท้าทายเรื่องนี้ดี จึงได้เร่งแผนพลังงานฉบับใหม่ ฉบับ 8 คล้ายแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (แผนพีดีพี) ของไทย โดยมุ่งเพิ่มการผลิตผลิตไฟฟ้าจากแอลเอ็นจี และถ่านหิน มากขึ้น

Advertisement

หากดูตามแผนพลังงานฉบับนี้ ความต้องการใช้ไฟฟ้าในอีก 20-30 ปีข้างหน้าจะเป็น 150,000 เมกะวัตต์ และจะเพิ่มสัดส่วนไฟฟ้าฟอสซิลมากขึ้น เพื่อรองรับกับความต้องการ ส่วนใช้ไฟฟ้าของเวียดนามปัจจุบันเฉลี่ยใช้ 40,000 เมกะวัตต์ (สูงกว่าไทยอยู่ที่ 36,000 เมกะวัตต์) นี่น่าจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าโดยเฉพาะโรงไฟฟ้าภาคเอกชนขนาดใหญ่ (IPP) ของไทย