กกพ.อัพเกรดระบบ สู่ Smart Operation

กกพ.

การวางแผนด้านพลังงานต้องอาศัยทั้งข้อมูลที่รอบด้าน เพื่อให้เกิดความแม่นยำ ในการประเมินสถานการณ์และเตรียมแผนรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (energy transition) จากพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานหมุนเวียน และการวางแผนความเสี่ยงในการลงทุนด้านพลังงานสะอาดในอนาคต

หากไทยไม่เตรียมพร้อม อาจจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงาน ราคาไฟฟ้า และความสามารถในการแข่งขัน นับว่าเป็นความท้าทายสำหรับเรกูเลเตอร์ “สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)” ที่ต้องเร่งอัพเกรดการทำงาน ด้วยการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมต่าง ๆ มาปรับประยุกต์ใช้มากขึ้น

ล่าสุด กกพ.เปิดตัวโครงการพัฒนาระบบจัดการข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการกำกับกิจการพลังงาน (Data science and analytics) เชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มการแบ่งปันข้อมูล (ERC Data Sharing) เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์ข้อมูลพลังงาน มีเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงและแบ่งปันข้อมูลระหว่างกัน ทั้งภายในสำนักงาน กกพ.

และหน่วยงานด้านพลังงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นต้น เพื่อให้เกิดการบูรณาการทางด้านข้อมูลพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

โดย Data science and analytics จะเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มการแบ่งปันข้อมูล (ERC Data Sharing) เพื่อยกระดับองค์กรสู่ “smart operation” เป็น “ศูนย์ข้อมูลพลังงาน” เพิ่มขีดความสามารถขององค์กร ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลผ่านระบบ dashboard นั่นเอง

นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธาน กกพ. กล่าวว่า Data Sharing คือกระบวนการแบ่งปันข้อมูลจากผู้ถือข้อมูลปลายทางที่มีความต้องการนำข้อมูลนั้นไปใช้ประโยชน์ กระบวนการดังกล่าวควรมีความปลอดภัยและเป็นสากล

“ที่ผ่านมาค่าพีกไฟฟ้ามักเกิดขึ้นในช่วงเวลากลางวันและวันธรรมดา ซึ่งเป็นเวลาทำงาน รวมถึงการใช้ไฟจากภาคอุตสาหกรรม แต่ในปีนี้ ค่าพีกไฟฟ้าเมื่อ 6 พ.ค. 2566 เกิดในวันหยุดสุดสัปดาห์ เปลี่ยนมาเป็นช่วงเวลา 21.41 น. ทำให้ Data sharing ต้องเข้ามามีบทบาทเพื่อมองเห็นภาพรวม ทำให้วางแผนและปรับปรุงคุณภาพสำหรับรองรับพฤติกรรมการใช้งานที่เปลี่ยนไป พร้อมรักษาความมั่นคงด้านพลังงาน”

ข้อดีระบบดิจิทัล

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ. กล่าวเสริมว่า ระบบดิจิทัลจะช่วยสร้างสมดุลระหว่างปริมาณการผลิตและการบริโภค รวมถึงสามารถเข้าถึงโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก เช่น โรงไฟฟ้าโซลาร์ ดังนั้น การใช้ระบบดิจิทัลมาช่วยบริหารจะช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่าย รวมถึงเปิดโอกาสธุรกิจเล็กเข้ามาสู่ระบบใหญ่ได้โดยปราศจากอุปสรรค จึงต้องมีการพัฒนาโปรแกรมควบคู่กับการบริหารผ่านระบบดิจิทัล

ความท้าทายยุคดิจิทัล

ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงการวางระบบต้องเตรียมพร้อมสำหรับความท้าทายยุคดิจิทัล เช่น การเข้ามาของระบบปัญญาประดิษฐ์ ( AI) อาทิ chat GPT หรือ data center ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้ต้องใช้ปริมาณไฟฟ้าค่อนข้างมาก

และยังมีเงื่อนไขในเรื่องพลังงานที่ใช้จะต้องเป็นพลังงานหมุนเวียน (renewable energy) ซึ่งประเทศไทยมีจำกัดมาก

นอกจากนี้ ในยุโรปยังเตรียมใช้มาตรการ carbon border adjustment mechanism (CBAM) สำหรับสินค้าที่ส่งออกไปยุโรปต้องสำแดงคาร์บอน

ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร
ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร

รวมถึงคำมั่นสัญญาที่ไทยได้ให้ไว้ต่อที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ทำให้ภาคเอกชนต้องลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนเพื่อสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ดังนั้น พลังงานหมุนเวียนจึงเป็นกุญแจสำคัญ

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล อดีตกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวว่า การเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญหาเรื่องสภาพอากาศแปรปรวน ส่งผลต่อความกระตือรือร้นของโลกที่จะต้องหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น

โดยในประเทศไทยคาดว่าจะมีปริมาณการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างพลังงานลมและพลังงานโซลาร์อยู่ที่ 50% ในปี 2573 แต่อย่างไรก็ตาม พลังงานหมุนเวียนยังมีปัญหาเรื่องความไม่แน่นอน อย่างในประเทศไทยมีระยะเวลาผลิตไฟฟ้าโซลาร์ได้เพียง 4.5 ชั่วโมงเท่านั้น จำเป็นต้องมี energy storage อย่างแบตเตอรี่มาช่วยแก้ปัญหา

และหลังจากมี CBAM แล้วอาจทำให้สินค้าจากประเทศไทยมีต้นทุนที่สูงขึ้น แข่งขันลำบาก ดังนั้น ประเทศไทยต้องรีบปรับตัว

ฝากโจทย์พลังงาน

ในเวทีสัมมนา ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ยังฝากถึง “รัฐบาลใหม่” หลายด้าน อาทิ เสนอว่าประเทศไทยต้องหันมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรืออีวี เพราะภาคการคมนาคมมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนสูงถึง 24%

จากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ซึ่งรัฐจะต้องสร้างระบบนิเวศที่สนับสนุนการใช้อีวี รวมถึงการวางแนวทางสร้างเสถียรภาพสำหรับพลังงานหมุนเวียน

“การเข้าสู่ยุคใหม่ควรพัฒนานโยบายพลังงานตามให้ทัน เริ่มต้นจากการกำกับพลังงาน ควรปรับจากการผูกขาดแบบ single buyer เป็นเสรีการค้าและปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งเป็นหน้าที่ของทาง กกพ.ที่ต้องให้มีการแข่งขันและตรวจสอบได้ รวมถึงควรพัฒนาให้เท่าทันเทคโนโลยี อย่างเรื่องอีวีที่ประเทศไทยควรอ่านโจทย์ให้แตกว่าทิศทางจะเป็นเช่นไร”

ส่วนการแก้ไขสัญญาซื้อขายไฟ หรือข้อตกลง อย่างไรเสียรัฐก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบชดเชยให้ ดังนั้น การแก้ไขปัญหาต้องมองไปข้างหน้า

ส่วนเรื่องโครงสร้างพลังงานอาจจะต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ เนื่องจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) เหมาะสำหรับประเทศที่กำลังขาดแคลนพลังงาน แต่สถานการณ์ไฟฟ้าของประเทศไทยตอนนี้อยู่ในภาวะล้นเกิน อาจจะต้องปรับแผนมาเป็นระบบการค้าเสรีแทน

“การปรับโครงสร้างสามารถปรับคำนวณสูตรใหม่ได้อย่างแน่นอน แต่ต้องพิจารณาว่าพลังงานมีต้นทุน และประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าพลังงาน ดังนั้น ราคาต้องพิจารณาตามราคาต้นทุนพลังงาน โดยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพลังงานขึ้นอยู่กับสถานการณ์ เพราะการซื้อพลังงานไม่ได้ซื้อเฉพาะแค่พลังงาน หากแต่ซื้อความมั่นคงด้วยเช่นกัน ในเรื่องสัดส่วนความมั่นคงทางพลังงานคงต้องพิจารณาอีกทีตามความเหมาะสม”

ดร.ไพรินทร์มองว่า นโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ที่ปรับในส่วนของการนำแก๊สธรรมชาติจากอ่าวไทยมาให้โรงไฟฟ้าก่อนภาคอุตสาหกรรม หากทำได้จะถือเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพลังงานครั้งยิ่งใหญ่ในรอบ 40 ปี ดังนั้น ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

ขณะที่ นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า การปรับโครงสร้างการใช้ก๊าซ ทาง กกพ.ไม่ได้มีปัญหา หากมีนโยบายมาก็สามารถปฏิบัติได้

เนื่องจากทาง กกพ.เองก็เคยทำมาก่อน อย่างการเฉลี่ยราคาที่ทำในช่วงมกราคมถึงเมษายนที่ผ่านมา โดยนำก๊าซในอ่าวไทยมาผลิตไฟฟ้าให้ประชาชนใช้ก่อน เพื่อช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของประชาชน แต่ก็หมายความว่าอีกกลุ่ม เช่น โรงแยกก๊าซอาจจะต้องจ่ายเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทิศทางจากนี้ควรจะต้องดูบริบทเฉพาะและภาพรวมของประเทศไทยให้ดี เพื่อสนับสนุนให้การพัฒนาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงความชัดเจนของนโยบายที่ต้องมีความแน่นอน แต่ขณะเดียวกัน ก็ควรมีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ได้ และย้ำว่า อย่าเลียนแบบประเทศอื่น แต่ควรเรียนรู้และปรับใช้เป็นบทเรียน รวมถึงต้องบริหารทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด