จัดการทั้งผู้ให้และผู้รับส่วย

คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

การออกมาเปิดเผยเรื่อง “ส่วย” รถบรรทุกของนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล นับเป็นเรื่องสั่นสะเทือนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ตำรวจ กรมทางหลวง แม้กระทั่งกรมการขนส่งทางบก

ความสั่นสะเทือนดังกล่าวส่วนหนึ่งอาจเกิดขึ้นจากการเป็นว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล พรรคที่ครองเสียงข้างมากและเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่อยู่ในขณะนี้ และกำลังฟ้องไปถึงการบริหารงานของรัฐบาลรักษาการชุดที่ไม่สามารถจัดการกับปัญหาคอร์รัปชั่นที่ลุกลามไปทั่วทุกวงการตามที่มีรายงานข่าวออกมาอย่างต่อเนื่อง

เป็นเรื่องที่น่าตกใจถึงตัวเลข “ส่วย” รถบรรทุกที่บรรทุกของหนักเกินไปกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดผ่านทางการติด “สติ๊กเกอร์” หน้ารถบรรทุก เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าผ่านด่านทางหลวงต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยสติ๊กเกอร์แต่ละดวงมีราคาตั้งแต่ 3,000-5,000 บาทต่อเดือน อาจแพงถึงหลัก 10,000 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับระยะทางและจำนวนด่านที่รถบรรทุกจะต้องขับผ่าน

ถ้าจำนวนรถบรรทุกในประเทศไทยมีประมาณ 1.4 ล้านคัน และมีรถบรรทุก 300,000 คันต้องเสียเงินซื้อ “สติ๊กเกอร์” เดือนละ 3,000-5,000 บาท เท่ากับคิดเป็น 900-1,500 ล้านบาทต่อเดือน หรือในปีหนึ่งมูลค่า “ส่วย” รถบรรทุกทางหลวงอาจสูงถึง 20,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของมูลค่าเรื่องทุจริตที่ร้องเรียนมายังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในแต่ละปีรวมกันประมาณ 200,000 ล้านบาท

ขณะที่ตำรวจเองก็ยอมรับว่าส่วยรถบรรทุก “มีจริงและมีมานานแล้ว” ซึ่งได้สร้างความแปลกประหลาดที่ว่า ที่ผ่านมาทำไมไม่ “จัดการ” กับการเรียกเก็บส่วยคอร์รัปชั่น ทั้ง ๆ ที่ตนเองเป็นผู้รักษากฎหมาย แต่กลับปล่อยปละละเลยจนกลายเป็นกระบวนการเรียกเก็บส่วยส่งนาย คิดเป็นวงเงินที่มาจากการคอร์รัปชั่นแลกรับผลประโยชน์ปีละ 20,000 ล้านบาท

ดังนั้น การอนุมัติโยกย้าย ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง (ผบก.ทล.) จึงเท่ากับเป็นการ “ยอมรับ” ถึงปัญหาการเรียกเก็บส่วยที่สะสมมาอย่างยาวนาน แม้กระทั่งผู้บังคับการระดับสูงที่ดูแลหน่วยงานนี้โดยตรงก็ไม่สามารถจัดการกับการเรียกเก็บส่วยได้

นอกจากกระบวนการส่วยรถบรรทุกที่ถูกแฉออกมาอย่างเป็นทางการแล้ว เรื่องส่วยยังลุกลามไปถึงส่วยรถรับ-ส่งนักเรียน ส่วยรถตู้วิ่งระหว่างจังหวัด ไปจนกระทั่งถึงส่วยลอตเตอรี่ที่ขายเกินราคา แต่การจะไปกล่าวหา “เจ้าหน้าที่รัฐ” เรียกเก็บส่วยแต่เพียงฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ เพราะหากไม่มี “ผู้ให้” ก็จะไม่มี “ผู้รับ” เท่ากับสมยอมทั้งคนให้และคนรับ กลายเป็นช่องทางให้เกิดการกระทำผิดกฎหมาย

ดังนั้น นอกเหนือจากการกวาดล้างเจ้าหน้าที่ผู้รับส่วยแล้ว ยังจะต้องหันมาจัดการกับ “ผู้จ่ายส่วย” ด้วยความเอาจริงเอาจัง เพื่อขจัดกระบวนการทั้งเรียก ทั้งรับ ทั้งให้ “ส่วย” หมดไปจากประเทศไทย