จับตาทิศทาง “ราคาน้ำมันโลก” หลังซาอุฯแจก “อมยิ้ม”

จับตาทิศทางราคาน้ำมันโลก
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ผลประชุมกลุ่มพันธมิตรผู้ผลิตน้ำมันดิบ “โอเปกพลัส” ครั้งล่าสุด ปรากฏออกมาเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แบบ “เซอร์ไพรส์” ตลาดน้ำมันโลกไม่น้อย

เพราะแทนที่จะมีการประกาศปรับลดการผลิตสำหรับป้อนสู่ตลาดโลกของกลุ่มลงเหมือนเช่นที่เคยเป็นมาในอดีต คราวนี้มีเพียง “ซาอุดีอาระเบีย” ยักษ์ใหญ่ในวงการผลิตน้ำมันดิบเท่านั้นที่ประกาศปรับลดปริมาณน้ำมันที่ส่งออกสู่ตลาดโลกลงโดยสมัครใจเพียงลำพัง

ซาอุดีฯ หัวเรือใหญ่ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ประกาศว่า ในเดือนก.ค.นี้จะปรับลดกำลังการผลิตลง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน การปรับลดดังกล่าวอาจจะขยายออกไปอีกหากซาอุดีอาระเบียเห็นว่าตลาดน้ำมันโลกยังไม่มี “เสถียรภาพ” ตามที่จำเป็นต้องมี

เจ้าชายอับดุลลาซิซ บิน ซัลมาน รัฐมนตรีน้ำมันซาอุดีอาระเบีย เรียกการปรับลดครั้งนี้ว่า “อมยิ้มจากซาอุดีฯ” ที่แจกให้กับสมาชิกโอเปกพลัสทุกชาติ

ในขณะเดียวกัน สมาชิกโอเปกพลัสชาติอื่น ๆ ตัดสินใจร่วมกันขยายการปรับลดกำลังการผลิตตามที่ตกลงกันไว้เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งกำหนดลดกำลังการผลิตลงรวม 1.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน จนถึงสิ้นปีนี้ โดยยืดเวลาการปรับลดกำลังการผลิตดังกล่าวออกไปเป็นจนถึงสิ้นปี 2024

การปรับลดการผลิตน้ำมันนับเป็นครั้งที่ 3 ในรอบไม่ถึงปี นับตั้งแต่เดือนต.ค.ปีที่แล้ว ที่โอเปกพลัสประกาศลดปริมาณน้ำมันที่ป้อนตลาดโลกลง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่อด้วยการปรับลดอีก 1.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา เป็นครั้งที่ 2

การปรับลดเมื่อเดือนเม.ย.ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งขึ้นสูงไปอยู่ที่ 87 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลชั่วขณะ แล้วก็ร่วงลงอย่างรวดเร็ว ในช่วงหลายสัปดาห์หลังมานี้ราคาน้ำมันดิบโลกแกว่งตัวที่ระดับ 75-76 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเท่านั้นเอง

ทำไมการปรับลดปริมาณน้ำมันทั้งสองครั้งก่อนหน้านี้ไม่สามารถหนุนระดับราคาให้ลอยตัวอยู่ในระดับสูงได้ จนต้องมีการปรับลดปริมาณน้ำมันดิบในตลาดอีกครั้ง

แน่นอนหลายคนชี้ว่า เป็นเพราะความต้องการน้ำมันของโลกยังไม่ฟื้นตัวสู่ระดับที่เคยคาดหวังกันไว้ หลังวิกฤตโควิดเศรษฐกิจโลกก็เผชิญกับความท้าทายสารพัด ตั้งแต่สงครามในยูเครน เรื่อยมาจนถึงวิกฤตธนาคารในสหรัฐและยุโรป การฟื้นตัวแบบกระท่อนกระแท่นของจีน รวมไปถึงการคาดการณ์ถึงภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยที่เชื่อกันว่าจะเกิดขึ้นชัดเจนในครึ่งหลังของปีนี้

ในเวลาเดียวกัน การปรับลดการผลิตของโอเปกพลัส โดยข้อเท็จจริงก็ไม่ได้ลดปริมาณของน้ำมันดิบในตลาดโลกลงมากเท่ากับตัวเลขที่ประกาศ ในบางกรณีซัพพลายน้ำมันของโลกแทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงด้วยซ้ำไป

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในเวลานี้ก็คือ มาตรการ “อมยิ้ม” ของซาอุดีฯ ซึ่งหลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า น่าเชื่อถือว่าจะเกิดขึ้นจริง ยิ่งซาอุดีฯรับผิดชอบเพียงลำพัง ยิ่งน่าเชื่อถือมากขึ้นว่า น้ำมันดิบอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวันน่าจะหายไปจากตลาดจริง ๆ ในเดือนก.ค.นี้

ในขณะเดียวกัน “โอเปกพลัส” ก็ยินยอมเพิ่มโควตาการผลิตเพื่อส่งออกน้ำมันของชาติสมาชิกอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ให้สูงขึ้นอีก 200,000 บาร์เรลต่อวัน โดยอ้างว่าเป็นการตัดเอาจากโควตาของผู้ผลิตรายเล็กรายน้อยในแอฟริกา ที่ไม่เคยผลิตได้ตามโควตาที่ได้มาก่อน

นั่นเท่ากับว่าปริมาณน้ำมันดิบในตลาดจะหายไปไม่ถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน

นี่ยังไม่นับรวมปัญหาที่โอเปกพลัสมีมาตลอดในระยะหลัง คือรัสเซียที่ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้รายได้จากการขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ให้ได้มากที่สุด เพื่อนำไปใช้เป็น “ทุนก่อสงคราม” ของตนในยูเครน

เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา รัสเซียประกาศลดการผลิตเพื่อป้อนตลาดของตนลง 500,000 บาร์เรลต่อวัน โดยใช้ฐานการผลิตในเดือนก.พ.เป็นจุดตั้งต้น

แต่ถึงจะกล่าวอ้างอย่างหนักแน่นเท่าใดก็ตาม ก็ไม่เคยมีสัญญาณบ่งชี้ให้เห็นว่ารัสเซียลดการผลิตของตนลงจริง ๆ ตรงกันข้ามตัวเลขเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่ารัสเซียส่งออกน้ำมันสูงกว่าระดับเมื่อเดือน ก.พ.ถึงเกือบ 500,000 บาร์เรลต่อวัน

เป็นการส่งออกในระดับราคาที่ถูกอั้นไว้ไม่เกิน 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ให้กับลูกค้ารายน้อยรายใหญ่ในเอเชีย โดยเฉพาะ “อินเดียและจีน” ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อความต้องการน้ำมันดิบในตลาดโลก และยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้ราคาน้ำมันในตลาดลดต่ำลงไปอีก

ยิ่งราคาน้ำมันดิบในตลาดถูกลง รัสเซียยิ่งต้องขายในปริมาณที่มากเข้าไว้ เพื่อรักษาระดับรายได้แม้ว่าความต้องการน้ำมันของโลกจะอ่อนตัวลงตามลำดับก็ตาม ซึ่งจะยิ่งส่งผลให้ซัพพลายน้ำมันในตลาดบิดเบี้ยวมากยิ่งขึ้นไปอีก

นั่นคือเหตุผลที่ว่า ทำไมผู้เชี่ยวชาญตลาดน้ำมันของ “โกลด์แมน แซกส์” ถึงได้เชื่อว่า การปรับลดปริมาณน้ำมันในตลาดโลกของโอเปกพลัสครั้งนี้ ส่งผลให้ระดับราคาน้ำมันดิบ ณ ตอนสิ้นปี 2023 นี้เพิ่มขึ้นเพียงแค่ 1-6 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเท่านั้น ขึ้นอยู่กับว่าซาอุดีฯจะยืดเวลาการลดการผลิต 1 ล้านบาร์เรลออกไปนานแค่ไหน

ไม่น่าจะพุ่งสูงถึง 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอย่างที่เล่าลือแต่อย่างใด