
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประขาขาคิ ผู้เขียน : กษมา ประชาชาติ
ผู้บริหารหนุ่มวัย 33 ปี “จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด บรรยายในงานสัมมนา “เปิดโลกนวัตกรรมก้าวทันเทรนด์การเงินยั่งยืน” ที่จัดโดย “สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ” เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
เขาเล่าถึงงานล่าสุดที่ไปเป็นตัวแทน ร่วมกับบริษัทรุ่นพี่อย่าง CPF SCG ร่วม 10 คน เข้าร่วมการประชุม World Economic Forum (WEF) ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศจีน เป็นครั้งที่ 53 และนับเป็นครั้งที่ประสบความสำเร็จที่สุด มีคนเข้าร่วมมากถึง 3,000 คน
- เช็กที่นี่ เงินอุดหนุนบุตร 600 บาท เดือนธันวาคม 2566 เงินเข้าวันไหน
- ในหลวง พระราชินี เสด็จฯส่วนพระองค์ ทรงร่วมแข่งเรือใบ จ.ภูเก็ต
- เปิดค่าตอบแทน “ผู้บริหาร” ยักษ์ บจ. BBL จ่ายพันล้านต่อปี ทิ้งห่างคู่แข่ง
CEO น้องใหม่ เล่าว่าต้องทำการบ้านหนักตลอด 6 เดือน เพื่อเตรียมว่าทำอย่างไรจะใช้เวลาใน WEF ที่มีแค่ 5 วันให้คุ้มค่ามากที่สุด โดยพยายามส่งจดหมายนัดขอพบผู้นำองค์กรใหญ่ ๆ จากหลายประเทศ แต่ก็ต้องผิดหวัง ถูกปฏิเสธ เพราะบิทคับเป็นเพียง nobody
แต่น่าแปลกที่มีรัฐบาลจากประเทศ หนึ่งติดต่อมาและทาบทาม เหมือน “ซื้อตัวนักเตะ” เข้าไปขยายการลงทุน โดยเสนอเงื่อนไข “ยกเว้นภาษี” หลายอย่าง รวมถึงการให้สัญชาติให้ด้วย งานนี้ทำให้เห็นภาพเทรนด์การลงทุนของโลกจะเปลี่ยนไปจากเดิมที่ขยายการลงทุนไปยังจีน อเมริกา ยุโรป อินเดียมายัง “อาเซียน” เป้าหมายหลักนับจากปี 2024 เป็นต้นไป
ท่ามกลางการแข่งขันทุกประเทศในอาเซียนทุ่มสรรพกำลังดึงการลงทุนแข่งกัน ไทยจะรอดได้ก็ต่อเมื่อต้องมี 3 คำ คือ digital, green และ revolution
คำว่า ดิจิทัล มาเป็นอันดับแรก เพราะขนาดเศรษฐกิจของประเทศใหญ่อย่างจีนยังต้องพึ่งพาเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้น จาก 40% เมื่อปีก่อน มาเป็น 44% ไทยก็ต้องเร่งยกเครื่องกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมให้เป็นกระทรวงเกรด A
เช่นเดียวกับเทรนด์ green ที่จะมาพลิกโฉมการผลิตของโลก ให้กลายเป็น green supply chain เพราะผู้บริโภคยุคใหม่จะแสวงหาสินค้ารักษ์โลก ผู้ผลิตสินค้ากรีนจะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน green loan ได้ ดังนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ควรอยู่ระดับเกรด A ด้วย
ส่วนคำว่า revolution หมายถึง การปฏิวัติแบบพลิกโฉม แต่ไม่ใช่ค่อย ๆ เปลี่ยน แบบ evolution ที่แปลว่าวิวัฒนาการ ซึ่งไทยจะต้องปฏิวัติ เพราะความรู้บางอย่างเป็นเรื่องใหม่เลย เช่น EV ไม่ได้เกิดจากพัฒนาสันดาปจนกลายเป็น EV หรืออย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เราคงได้ยิน generative AI ได้มาเชื่อมโยงกับทุกๆ เรื่อง อย่างแพลตฟอร์ม Khan Academy เรียนออนไลน์ที่เรียนจากที่ไหนก็ได้ หรือบริษัทแท็กซี่ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างอูเบอร์ ทั้งที่ไม่ได้มีแท็กซี่สักคัน สิ่งเหล่านี้ทำให้ปฏิเสธการพัฒนาเทคโนโลยีไม่ได้
“คำว่ารู้แล้ว” จะกลายเป็นไม่รู้ ในอีก 5 ปีข้างหน้าความรู้ที่เราเรียนมา 44% จะใช้ไม่ได้ อนาคตปี 2030 ประชากร 1 ใน 3 ของโลกจะต้องเข้าเรียนใหม่ ในเวที WEF จึงตั้ง skill taxonomy ดูว่าทักษะใดที่โลกในอนาคต ต้องการ นี่เป็นคำถามที่ไม่ใช่แค่ต้องคิด แต่ยังต้องเตรียมตัวด้วย