
คอลัมน์ : นอกรอบ
“เศรษฐกิจสูงวัย” หรือ “silver economy” ถือเป็นเศรษฐกิจใหม่ที่มีการเติบโตทั่วโลก ที่สร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับภาคธุรกิจ
โดยศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย มองว่า การเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุ ทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจใหม่เรียกว่า “เศรษฐกิจสูงวัย” หรือ “silver economy” ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 26.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 880-900 ล้านล้านบาท คิดเป็น 26.6% ของมูลค่าเศรษฐกิจทั่วโลก
- MOTOR EXPO 2023 ยอดขายรถ 4 วันแรกทะลุ 8,300 คัน
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เงินเข้าบัญชีวันนี้ 38 จังหวัด
- สพฐ.ประกาศหยุดเรียน 4-8 ธ.ค.ให้นักเรียน ม.ปลายเตรียมสอบ TGAT/TPAT
ขณะที่มูลค่าตลาดผู้บริโภคกลุ่มผู้สูงวัย หรือ silver gen ของไทยมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยปีละ 4.4% และคาดว่าจะแตะระดับ 2.6 ล้านล้านบาท คิดเป็น 12% ของมูลค่าเศรษฐกิจไทย ในปี 2573 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า
นับเป็นความท้าทายสำคัญของภาคธุรกิจไทยในการเตรียมความพร้อมรับมือและคว้าโอกาสจากกลุ่ม silver gen ซึ่งถือเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่น่าสนใจ เพราะมีศักยภาพด้านการเงิน พร้อมจับจ่ายใช้สอย
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ระบุว่า จากที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (super-aged society) คือมีสัดส่วนประชากรที่อายุ 65 ปีขึ้นไปเกินกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด ภายใน 5-6 ปีข้างหน้า และแนวโน้มค่าใช้จ่ายของกลุ่ม silver gen ที่เพิ่มขึ้น จึงมองว่า 5 เทรนด์ธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงคือ
1.อาหารสำหรับผู้สูงอายุ เช่น ธุรกิจผลิตอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
2.การท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุ ทั้งบริการนำเที่ยว และโรงแรม
3.การดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน
4.ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ
5.บริการทางการเงินเพื่อผู้สูงอายุ ทั้งการให้คำปรึกษาและผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ
ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการ ทั้ง SMEs และธุรกิจขนาดใหญ่ที่จะสร้างโอกาสเติบโตจากกลุ่มธุรกิจเหล่านี้
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS มองว่า รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินนโยบายที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงในการขาดแคลนแรงงาน พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ โดยศึกษาตัวอย่างของรัฐบาลต่างประเทศมาประยุกต์ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย ทั้งการกระตุ้นให้ประชาชนมีลูกเพื่อแก้ปัญหาอัตราการเกิดต่ำ และปรับเปลี่ยนโครงสร้างอายุประชากรในระยะยาว ผ่านการเพิ่มเงินอุดหนุนและสวัสดิการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการมีบุตร
รวมถึงขยายอายุเกษียณและสนับสนุนการจ้างงานผู้สูงอายุ เพื่อให้มีกำลังแรงงานในระบบเศรษฐกิจต่อไป เช่น ญี่ปุ่นปรับอายุเกษียณเป็น 70 ปี ยกระดับสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุผ่านกองทุนประกันสังคม ประกันสุขภาพ และระบบบำนาญ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนกลุ่ม silver gen
สอดคล้องกับที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าประชากรผู้สูงอายุของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและในอัตราที่รวดเร็ว กลุ่มวัย silver age (อายุ 50 ปีขึ้นไป) จึงจะกลายมาเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ จากสัดส่วนการใช้จ่ายที่มากกว่ากลุ่มช่วงอายุอื่น ๆ
โดย Deloitte ได้ประมาณการว่า ภายในปี 2573 สัดส่วนการบริโภคของ silver age ของไทยจะมีมูลค่าการบริโภคสูงถึง 3.31 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าสิงคโปร์
แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ ตามคาดการณ์จำนวนประชากรของ UN พบว่า “ไทย” มีโอกาสที่จะเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกของโลกที่ได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุขั้นสุดยอด (super aged society) ภายในปี 2572 คือมีสัดส่วนประชากรอายุมากกว่า 65 ปีถึง 20% หรือมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 30%
เนื่องจากอัตราการเกิดของคนไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องน้อยกว่า 6 แสนคนต่อปี โดยปี 2565 ไทยมีสัดส่วนประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 12 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 6 ของประชากรไทย
ขณะที่สถานภาพทางเศรษฐกิจของผู้สูงอายุไทย ซึ่งส่วนใหญ่ยังทำงานหรือมีลูกหลานเลี้ยง โดยพบว่า 34% ของผู้สูงอายุมีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาทต่อปี หรือต่ำกว่าเส้นความยากจน โดยมีเพียงแค่ 5% ของผู้สูงอายุทั้งประเทศที่มีเงินเหลือเก็บ
เรียกว่าสถานะการเงินของผู้สูงอายุไทยอยู่ในภาวะเปราะบาง ทำให้ต้องเกษียณอายุโดยขาดความพร้อม และมีความเสี่ยงทางการเงิน
ดังนั้น การเข้าสู่สังคมสูงอายุของไทยนั้นมีความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากสถานะการเงินของผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีความเปราะบางและสวัสดิการรัฐที่ไม่เพียงพอ
และยังทำให้ไทยอาจเป็นประเทศ “แก่ก่อนรวย” ประเทศแรก ซึ่งเป็นความท้าทายเชิงโครงสร้างประชากร การลดลงของกำลังแรงงาน และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับประเทศ ที่ไม่ใช่แค่ปัญหาภาระทางการคลังที่ภาครัฐต้องพิจารณาเท่านั้น
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ภาคการเงินจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์ที่ช่วยส่งเสริมการใช้ชีวิตวัย silver age อย่างมีคุณภาพได้ โดยหนึ่งในทางแก้คือ การสร้างรายได้ในระยะปัจจุบันและสนับสนุนการเก็บออมที่สม่ำเสมอในระยะยาว จะเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุและผู้ที่เตรียมตัวเข้าสู่วัยสูงอายุ ใช้ชีวิตในวัยเกษียณได้อย่างมั่นคงมากขึ้น
รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ เพื่อสร้างกลไกรายได้ให้ผู้สูงอายุ เช่น reverse mortgage สินเชื่อเพื่อผู้สูงอายุ เพื่อเปลี่ยนบ้านเป็นเงินบำนาญสำหรับใช้จ่ายในช่วงที่ไม่มีรายได้ โดยรูปแบบสินเชื่อธนาคารจะเป็นผู้ซื้อบ้านจากผู้ขอกู้ พร้อมนำเงินเข้าบัญชีให้ผู้กู้ทุกเดือน ซึ่งในประเทศไทยมีธนาคารรัฐเพียง 2 แห่งที่มีสินเชื่อดังกล่าวคือ ธนาคารออมสินและธนาคารอาคารสงเคราะห์
รวมทั้งมาตรการหรือแนวทางการส่งเสริมการออมต่าง ๆ ที่ช่วยให้เกิดการออมอย่าง “สม่ำเสมอ”
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ทางการเงินของไทยยังคงมีช่องว่างที่ยังสามารถพัฒนาต่อไปได้ หากมีการสนับสนุนและการร่วมมือระหว่างกันของภาครัฐและเอกชน