สปีดไทยให้ทันโลก

คอลัมน์ สามัญสำนึก โดย ชลาทิพย์ ถิรสุนทรากุล

อุตสาหกรรมยุค 4.0 ของโลกกำลังเห็นภาพชัดเจน ในประเทศอุตสาหกรรมเบอร์ต้นของโลก เปลี่ยนผ่านทีละนิดทีละน้อยกันมานานนับทศวรรษ และหลายประเทศ

วันนี้กำลังก้าวสู่ความเป็น 4.0 แบบให้เห็นเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น เยอรมนี เกาหลีใต้ สหรัฐ เป็นต้น

คำว่าอุตสาหกรรม 4.0 คือ ยุคของการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีและออโตเมชั่นมาขับเคลื่อนกระบวนการผลิตทั้งระบบ มีระบบไอทีขั้นสูงควบคุมเครื่องจักร และการใช้แรงงานเครื่องจักรเป็นออโตเมติกเหมือนหุ่นยนต์เข้ามาทำหน้าที่แทนมนุษย์ในระดับหลักหมื่นคนขึ้นไป

แน่นอนว่าสำหรับการเป็นไทยแลนด์4.0 เรื่องอุตสาหกรรม 4.0 เป็นหนึ่งเรื่องหลักที่เราต้องก้าวเข้าไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และวันนี้เราไปถึงไหนแล้ว

คำตอบคือ ปัจจุบันอุตสาหกรรมไทยส่วนใหญ่ยังใช้ระบบ Manual (ไม่มีระบบอัตโนมัติ) คิดเป็นสัดส่วน 85%ของโรงงานที่สำรวจ

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีแผนที่จะลงทุนเปลี่ยนเป็นหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติภายใน 1-3 ปีถึง 50%

การจะพาอุตสาหกรรมไทยเป็น 4.0 ได้ หนึ่งใน “เครื่องมือ” สำคัญคือ จะต้องเริ่มจากการผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้ได้ ถ้าพัฒนาขึ้นมาได้ก็จะกลายเป็นฐานต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S-Curve รวมทั้งอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

โดยประเทศไทยมีธงว่าจะต้องทำให้เกิดการใช้หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตให้ได้ใน 3 ปีจากนี้ และส่วนนี้คิดมูลค่าลงทุนแล้วไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท

ถึงเราจะเหมือนเพิ่งเริ่มต้นกับการพูดถึงหุ่นยนต์ภาคอุตสาหกรรม แต่เราจะรอยึดหลัก “ช้า ๆ แต่ยั่งยืน” ไม่ได้แล้ว และจะคิดถึงแค่การใช้ออโตเมชั่นในภาคอุตสาหกรรมบางประเภทอย่างรถยนต์ หรือชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ก็ไม่ได้ ต้องก้าวกระโดดยกเครื่องกันให้ไว เพราะประเทศอื่นที่ค่อย ๆ เปลี่ยนผ่านจากระบบอุตสาหกรรมเครื่องจักรธรรมดาเข้าสู่อุตสาหกรรมยุค 4.0 ก็เดินหน้าไปมากแล้ว

สถิติอุตสาหกรรมโลกปี 2557 เริ่มพบการขยายตัวและเติบโตของอุตสาหกรรมที่ใช้ระบบออโตเมชั่น-หุ่นยนต์เพิ่มขึ้น 29% ด้วยจุดแข็งว่าเป็นการลงทุนที่ไม่พึ่งแรงงานคนที่มีปัจจัย และเงื่อนไขผกผันสูงกว่า

รายงานจาก International Federation of Robotics หรือ IFR คาดการณ์ว่า ภายในปี 2019 ทั่วโลกจะมีอุตสาหกรรมใหม่ที่มีสายการผลิตเป็นหุ่นยนต์ และจักรกลอัตโนมัติไม่ต่ำกว่า 1.4 ล้านอุตสาหกรรม และ 65% ของประเทศในยุโรป มีตัวเลขเฉลี่ยว่าแต่ละโรงงานใช้หุ่นยนต์อุตสาหกรรมทดแทนแรงงานคนได้ 10,000 คน

ทั้งนี้ยังคาดการณ์ว่า หุ่นยนต์ภาคอุตสาหกรรมจะเพิ่มบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ ในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและกลางทั่วโลก

น่าสนใจว่าแม้กระทั่งประเทศที่ยังมี “แรงงาน” วัยทำงานจำนวนมาก และค่าแรงราคาถูกอย่าง “อินเดีย” ก็เตรียมพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ระบบออโตเมชั่นเพื่อลดต้นทุนเช่นกัน แม้จะยังไม่รวดเร็วนัก แต่เตรียมปรับตัวสู่เงื่อนไขนี้เช่นกัน

ขณะที่ประเทศที่เห็นชัดเจนว่าเข้าสู่ระบบออโตเมชั่นในภาคอุตสาหกรรมสูงคือ”จีน”

IFRระบุว่าในส่วนของประเทศจีนมีอุตสาหกรรมด้านนี้ที่เข้มแข็ง เพราะจีนมีแผนการยกระดับ “เมดอินไชน่า 2025” ทำให้การใช้เทคโนโลยีทางอุตสาหกรรมของจีนโตต่อเนื่อง และตั้งเป้าให้กรุงปักกิ่งเป็นเป้าหมายของภาคอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ให้ได้ในปี 2020 โดยปัจจุบันอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ระบบหุ่นยนต์ในจีนมี 600,000-650,000 แห่ง

วันนี้จีนคือตลาดใหญ่ของการผลิตสินค้าด้วยหุ่นยนต์ภาคอุตสาหกรรม ตามมาด้วยญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

ขณะเดียวกันประเทศกลุ่มนี้ก็ยังตั้งเป้าจะส่งออกหุ่นยนต์ภาคอุตสาหกรรมเป็นอีกหนึ่งสินค้าส่งออกหลักในอนาคตด้วยเช่นกัน

สำหรับไทยในฐานะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่หากนับปัจจัยการขยายตัวอย่างรวดเร็วของชนชั้นกลางการลงทุนเพิ่มโครงสร้างพื้นฐาน

วันนี้ค่อย ๆ ไปไม่ทันแล้ว ต้องกดสปีดระดับเปลี่ยนให้ทันโลก…