
คอลัมน์ : มองข้ามชอต ผู้เขียน : นพมาศ ฮวบเจริญ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)
ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา นโยบายอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียว หรือ Utility Green Tariff (UGT) ถูกนำมาพูดถึงอีกครั้งในไทย โดยเฉพาะหลังจากที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศราคาไฟฟ้าสีเขียวประเภทไม่เจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้า (UGT1) ซึ่งได้เริ่มดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าสีเขียวได้ตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ UGT ถูกนำเสนอจากสำนักงาน กกพ. มาตั้งแต่ปลายปี 2021 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้โครงสร้างกิจการไฟฟ้าของไทยปรับตัวสอดรับไปกับความต้องการไฟฟ้าสีเขียวที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ตามแนวทางการลดการปล่อยคาร์บอนทั่วโลกที่จะเข้มข้นมากขึ้น
UGT คืออะไร อธิบายอย่างง่าย ๆ ก็คือ ราคาของไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด (เช่น น้ำ แดด และลม) ที่มาพร้อมกับใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) ซึ่งผู้ซื้อไฟฟ้าสามารถอ้างสิทธิในการใช้พลังงานหมุนเวียนเหล่านั้นได้ ทั้งนี้ไฟฟ้าดังกล่าวจะถูกจำหน่าย โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิต/ฝ่ายจำหน่าย
โดย UGT มีอยู่ 2 ประเภท คือ UGT1 และ UGT2 ซึ่งมีความแตกต่างหลัก ได้แก่
1.การเจาะจงแหล่งที่มาของพลังงาน : ไม่เจาะจง VS เจาะจง
2.ระยะเวลาสัญญาซื้อไฟ : 1 ปี VS 10 ปี
3. ระยะเวลาเริ่มขาย : เดือน เม.ย. 2024 VS ต้นปี 2025
4.การกำหนดราคา : ค่าไฟฟ้าปกติบวก Premium VS ค่าไฟที่ถูกคิดจากต้นทุนซื้อไฟฟ้าจากแหล่งไฟฟ้าที่ผู้ซื้อเลือก บวกด้วยค่าใช้จ่ายดำเนินการอื่น ๆ
5.โอกาสการซื้อไฟฟ้าสีเขียวในราคาถูกกว่าไฟฟ้าปกติ : โอกาสเป็นศูนย์ เนื่องจากผู้ซื้อไฟฟ้าต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในราคาบวก Premium หรือราคา REC จากค่าไฟฟ้าปกติ VS มีโอกาสซื้อถูกกว่า โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ราคาก๊าซธรรมชาติเร่งตัวขึ้นมาก เช่น ในช่วงครึ่งหลังของปี 2022
ทั้งนี้ราคา UGT1 และ UGT2 ที่ กกพ.ประกาศราคาขายปลีกในช่วงแรกจะอยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 4.24 และ 4.55-4.56 บาทต่อหน่วย ตามลำดับ
ปริมาณไฟฟ้าสีเขียวในตลาด UGT มีแนวโน้มจะเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 30% ในช่วง 6 ปีข้างหน้า ตามการนำปริมาณไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายใต้โรงไฟฟ้าที่เป็นสิทธิของการไฟฟ้าฯ เข้ามาในตลาด UGT โดยแบ่งเป็น 3 พอร์ตใหญ่ คือ 1.โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ 7 แห่งของ EGAT ซึ่งจะมีปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ราวปีละ 1,300-3,500 ล้านหน่วย โดยเข้าตลาดตั้งแต่ปีนี้เพื่อขายให้ UGT1
2.โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ แสงอาทิตย์บวกแบตเตอรี่ และลม สัญญา Feed in Tariff (FiT) โดยเริ่มเข้าตลาดตั้งแต่ปี 2025 ด้วยปริมาณไฟฟ้าสูงสุดที่ราวปีละ 4,300-4,400 ล้านหน่วย
และ 3.โรงไฟฟ้าประเภทเดียวกันกับพอร์ตที่สอง แต่จะเริ่มเข้าตลาดตั้งแต่ปี 2028 ด้วยปริมาณไฟฟ้าสูงสุดที่ราวปีละ 4,600-4,700 ล้านหน่วย ทั้งนี้ 2 พอร์ตหลังจะเป็นแหล่งไฟฟ้าที่นำมาขายในตลาด UGT2
หากพิจารณาจากแหล่งไฟฟ้าสีเขียว 3 พอร์ตข้างต้น คาดว่าจะมีปริมาณไฟฟ้าสีเขียวภายใต้ตลาด UGT ในปี 2030 จะอยู่ที่ราว 1.1 หมื่นล้านหน่วยไฟฟ้า ซึ่งคาดว่าจะสามารถรองรับผู้ใช้ไฟฟ้าภาคธุรกิจได้เพียง 10% ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าในระบบการไฟฟ้าของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าภาคธุรกิจ (ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 3-5 *)
ขณะที่ความต้องการไฟฟ้าสีเขียวของภาคธุรกิจในไทยกลับมีแนวโน้มที่จะทยอยเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ด้วยแรงผลักดันสำคัญจากเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ของหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย (ตั้งเป้าไว้ว่าจะเกิดขึ้นในปี 2050)
ซึ่งทำให้นำมาสู่ 1.มาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ ทั้งไทยและต่างประเทศ ที่ผลักดันให้ภาคธุรกิจไทยลดการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต เช่น มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรป ซึ่งหากผู้ส่งออกไทยไม่ปรับลดการปล่อยคาร์บอน จะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันให้ด้อยลง และในอนาคต ภาครัฐไทยมีแผนที่จะจัดเก็บภาษีคาร์บอนกับผู้ผลิต (ภาษีคาร์บอนของไทยอยู่ระหว่างการศึกษาและจะแล้วเสร็จประมาณกลางปี 2024)
และ 2.เอกชนรายใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่างก็ตั้งเป้าการปรับลดการปล่อยคาร์บอนเป็นหนึ่งในเป้าหมาย ESG ที่สำคัญ ทำให้ความต้องการในการใช้ไฟฟ้าสีเขียวจะมีมากขึ้น (แม้ว่าผู้ประกอบการหลายรายพยายามพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนด้วยตนเอง เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคา/พื้นที่ส่วนตัวเพื่อผลิตไฟฟ้า ดังจะเห็นได้จากปริมาณไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์นอกระบบการไฟฟ้าที่เติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 82% ในช่วงปี 2018-2023 แต่ก็อาจยังไม่เพียงพอและหลายบริษัทอาจมีข้อจำกัด เช่น พื้นที่ติดตั้งแผงโซลาร์ที่ไม่เพียงพอ ความต้องการใช้ไฟฟ้าในปริมาณมากต่อเนื่อง เป็นต้น)
นอกจากนี้ หากไทยต้องการผลักดันเม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีใหม่ เช่น Data Center ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องการการใช้ไฟฟ้าสีเขียวค่อนข้างสูง ก็อาจยิ่งทำให้ความต้องการไฟฟ้าสีเขียวในประเทศยิ่งมีมากขึ้น
จากปริมาณไฟฟ้าสีเขียวในตลาด UGT ที่กล่าวมาข้างต้น สามารถตอบสนองปริมาณการใช้ไฟฟ้าของภาคธุรกิจได้เพียง 10% ในปี 2030 ขณะที่ภาคธุรกิจกลับมีความเข้มข้นในการใช้ไฟฟ้าสีเขียวมากขึ้น จึงมีโอกาสที่ตลาด UGT อาจเติบโตได้มากกว่าที่คาด
โดยเฉพาะหลังจากที่แผนพัฒนาพลังไฟฟ้า (PDP) ใหม่ได้มีการประกาศออกมา ซึ่งมีโอกาสที่จะมีไฟฟ้าสีเขียวเข้าสู่ตลาด UGT มากขึ้น (จากเดิมที่ในปี 2030 อาจอยู่ที่ 1.1 หมื่นล้านหน่วยไฟฟ้า) สะท้อนจากกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และลมในแผน PDP ใหม่ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวจากแผน PDP/2018Rev1 ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งผู้ผลิตไฟฟ้าสีเขียวเพื่อขายให้แก่การไฟฟ้าฯ และภาคธุรกิจที่มีโอกาสเข้าถึงไฟฟ้าสีเขียวได้มากขึ้น