ไทยในเวทีของ BRICS

BRICS
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ ร่างหนังสือแสดงความประสงค์ของประเทศไทยในการเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS ตามข้อเสนอของ กระทรวงการต่างประเทศ หลังจากที่ไทยได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มนี้มาตั้งแต่ต้นปี 2566

โดยกลุ่ม BRIC เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2549 หรือ 18 ปีมาแล้ว จากสมาชิกแรกเริ่ม 4 ประเทศ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ต่อมา แอฟริกาใต้ ได้เข้าร่วมในปี 2553 จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น กลุ่ม BRICS จนถึงปัจจุบันกลุ่มนี้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก 5 ชาติ รวมเป็น 10 ชาติ ได้แก่ เอธิโอเปีย อียิปต์ ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ครอบคลุมประชากรประมาณ 3.5 พันล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 45 ของประชากรโลก มีขนาดมูลค่าทางเศรษฐกิจ 28.5 ล้านล้านเหรียญ หรือคิดเป็นร้อยละ 28 ของมูลค่ารวมเศรษฐกิจโลก

BRICS จะประกอบไปด้วย “เสา 3 เสา” คล้ายกรอบของกลุ่ม ASEAN ได้แก่ เสาทางด้านการเมืองและความมั่นคง เสาด้านเศรษฐกิจ และ เสาด้านมนุษยธรรมและวัฒนธรรม ในแต่ละปีจะมีการจัดประชุมระดับผู้นำ BRICS และจัดประชุมภายใต้เสาแต่ละเสา ทั้งระดับคณะทำงาน ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส และ ระดับรัฐมนตรีของประเทศสมาชิก หมุนเวียนกันไป ซึ่งปีนี้ รัสเซีย ได้เป็นประธานของกลุ่ม

กระทรวงการต่างประเทศ ได้แจ้งถึงประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับถึงการเข้าเป็นสมาชิกของ กลุ่ม BRICS ไว้ว่า จะช่วยยกระดับบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะความร่วมมือกับ กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ที่กำลังก้าวขึ้นมามีบทบาททางด้านเศรษฐกิจและการเมืองในอนาคต การเพิ่มบทบาทของไทยในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ การส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ และยังเพิ่มโอกาสให้ไทยได้ร่วมสร้างระเบียบโลกใหม่

ทว่าในอีกด้านหนึ่ง กลุ่ม BRICS ในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปจากการรวมกลุ่มของประเทศ “ตลาดใหม่” ที่จะเป็นประตูสำคัญในการเข้าถึงตลาดเหล่านี้ ทั้งในเรื่องของการค้าและการลงทุนผ่านทางการใช้เงินสกุลท้องถิ่น รวมไปถึงแหล่งเงินทุนใหม่ จาก ธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (NDB) ที่ตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะ เนื่องจากสมาชิกสำคัญของกลุ่ม BRICS ได้แก่ รัสเซีย จีน อิหร่าน

ในสถานการณ์การเมืองโลก ถือเป็น “ขั้วตรงกันข้าม” กับกลุ่มประเทศตะวันตก ที่นำโดย สหรัฐอเมริกา ดังนั้น จึงเป็นข้อควรระมัดระวังสำหรับประเทศไทย ที่กำลังจะก้าวเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของกลุ่ม BRICS

Advertisment

จักต้องรักษาระยะห่างและสร้างสมดุลทางด้านการเมืองและการค้าให้ดี ให้สถานการณ์ที่ รัสเซีย และจีน กำลังหาพื้นที่ใหม่ ๆ ในเวทีโลก ทั้งจากสงครามยูเครน กรณีฮามาส-อิสราเอล และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน โดยต้องไม่ลืมว่า แท้จริงแล้ว BRICS เป็นแค่ “ความร่วมมือ” ไม่ได้มีสถานะเป็น “ข้อตกลง” ทั้งด้านการเมืองและการค้าแต่อย่างใด