ต้องจัดการลุ่มน้ำยม-น่านใหม่

น้ำท่วม น่าน
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

หลังจากที่ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศให้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีพายุพัดผ่านเข้าสู่ประเทศไทยโดยตรง มีเพียงหย่อมความกดอากาศต่ำ กับร่องมรสุมพาดผ่าน ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักกระจายเป็นหย่อม ๆ อยู่ในหลายพื้นที่ของประเทศ ครั้งนี้ก็เช่นกันที่มีร่องมรสุมกำลังปานกลางได้พาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ สปป.ลาว และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้เกิดฝนตกหนักถึงหนักมากและเกิดน้ำท่วมไปแล้วในหลายพื้นที่ของประเทศ

โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากไปแล้วถึง 10 จังหวัด แต่มีที่หนักมากในจังหวัดเชียงรายเกิดน้ำท่วมถึง 11 อำเภอ 33 ตำบล 231 หมู่บ้าน มีประชาชนได้รับผลกระทบไปแล้ว 5,381 ครอบครัว จังหวัดพะเยา เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ 40 ตำบล 313 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,500 ครัวเรือน

จังหวัดน่าน เกิดน้ำท่วม 11 อำเภอ 56 ตำบล 283 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 10,517 ครัวเรือน จังหวัดแพร่ น้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ 23 ตำบล 102 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 383 ครัวเรือน และจังหวัดเพชรบูรณ์ เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ 6 ตำบล 22 หมู่บ้าน มีประชาชนได้รับผลกระทบ 1,726 ครัวเรือน

ADVERTISMENT

มีข้อสังเกตว่า การเกิดน้ำท่วมเป็นวงกว้างดังกล่าว จัดเป็นสถานการณ์ “น้ำหลาก” ล้นออกมาจากลำน้ำสายหลัก 2 สาย ได้แก่ แม่น้ำน่าน กับแม่น้ำยม ซึ่งเป็นสถานการณ์ประจำที่เกิดขึ้นจนคนในพื้นที่รู้ดี แต่เนื่องจากน้ำมาเร็วจนไม่สามารถเตรียมตัวรับมือได้ทันท่วงที ขณะที่การจัดการน้ำในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนด้านตะวันออก ก็มีเพียง เขื่อนสิริกิติ์ เพียงเขื่อนเดียว สร้างปิดกั้นลำน้ำน่านอยู่ที่ อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งอยู่ต่ำกว่าจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วมอยู่ในขณะนี้

ขณะที่ แม่น้ำยม ยังไม่มีเขื่อนเก็บกักน้ำที่จะเข้ามาช่วยบรรเทาสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ จังหวัดแพร่-สุโขทัย เพียงแค่ร่องมรสุมที่พัดผ่านเข้ามา ยังไม่ถึงขั้น “พายุ” ที่อาจพัดเข้ามาตรง ๆ ในอนาคต พื้นที่จังหวัดเหล่านี้ก็เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากเป็นอย่างนี้ทุกปี สร้างความเสียหายให้กับจังหวัดรวมกันปีละหลายร้อยล้านบาท ทั้งพื้นที่เกษตรกรรมและพาณิชยกรรม

ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ใช้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในรูปของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เป็นกลไกสำคัญในการบริหารจัดการน้ำ แต่จากปัญหาการเกิดอุทกภัยที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี จึงควรที่ สทนช.จะต้องเร่งวางแผนการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำยม-น่านเสียใหม่ ด้วยการจัดทำโครงการชลประทานขนาดใหญ่ เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม โดยเร่งทำความเข้าใจกับชุมชนในพื้นที่ ดีกว่าที่จะมาแก้ปัญหาเป็นการเฉพาะหน้าเหมือนอย่างที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน

ADVERTISMENT