โอกาสเศรษฐกิจไทย

คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

รัฐบาลที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ครบรอบ 3 เดือน ในวันที่ 12 ธันวาคม และจะมีการแถลงผลงาน และแผนงานในอนาคต ส่วนมากเป็นเรื่องของมาตรการด้านเศรษฐกิจที่เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน การยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน อาทิ การสร้างบ้านให้ประชาชน

โดยในวันที่ 19 พ.ย.มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มี น.ส.แพทองธาร เป็นประธาน จะพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไป เพื่อรักษาโมเมนตัมการเติบโต มาตรการกระตุ้นหลังน้ำท่วม และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไป

มีทั้งมาตรการสินเชื่อรายย่อย เพื่อเติมสภาพคล่องให้กับประชาชน รวมถึงมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ ที่จะช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยสินเชื่อบ้าน วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย ต่อสถาบันการเงิน ลูกหนี้สินเชื่อรถยนต์ ลูกหนี้สินเชื่อ SMEs ฯลฯ

ผลการบริหารงานในห้วงเวลาที่ผ่านมา ทางสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี ไตรมาส 3/2567 ขยายตัว 3.0% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 2.2% ในไตรมาส 2/2567 ปัจจัยหลักมาจากการผลิตภาคนอกเกษตรที่ขยายตัวเร่งขึ้นตามการขยายตัวของกลุ่มบริการ การท่องเที่ยว ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตชะลอตัว และภาคการเกษตรปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัว 2.6% ปรับตัวดีขึ้นจากเดิม 1.9% ในไตรมาสก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ 0.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 2.5% ของ GDP

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดว่าจะขยายตัว 2.3-3.3% (ค่ากลางของการประมาณการอยู่ที่ 2.8%) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การเพิ่มขึ้นของรายจ่ายภาครัฐ (2) การขยายตัวของอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศ (3) การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว และ (4) การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้า การบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัว 3.0% และ 2.8% ตามลำดับ

ADVERTISMENT

ภายหลังการเปิดเผยของ สศช. มีการตอบรับที่ดีจากตลาดหุ้น ถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดี ขณะที่รัฐบาลมีโครงการที่จะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจอีกหลายเรื่อง รวมถึงการแจกเงินกลุ่มอายุ 60 ปี ที่จะเกิดขึ้นปลายปี 2567 รวมถึงมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ส่วนในปีหน้า อย่างไรก็ตาม แม้มีแนวโน้มที่ดีจากปัจจัยสนับสนุนต่าง ๆ

แต่ก็มีการคาดหมายว่าต้องเตรียมตั้งรับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะจากสถานการณ์ระดับนานาชาติ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงผู้นำสหรัฐ ได้แก่ เรื่องการค้าและภาษี นอกจากนี้ ยังมีปัญหาจากสถานการณ์การเมืองในประเทศ ได้แก่ เอกภาพภายในพรรคร่วมรัฐบาล และอุปสรรคที่คาดหมายได้ยากจากกลไกกฎหมายที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “นิติสงคราม”

ADVERTISMENT