มารู้จักความตกลง UNFCC ลดก๊าซเรือนกระจก

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย อรมน ทรัพย์ทวีธรรม กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

จากปัญหาฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ที่หลายคนเรียกกันว่า “ฝุ่นพิษ” ซึ่งเกิดจากเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ดีเซล ได้แพร่กระจายในเขตพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้หลายภาคส่วนตื่นตัวเกี่ยวกับการรับมือปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่น่ากังวลและเป็นเรื่องสำคัญระดับโลก คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือที่เรียกว่า “ภาวะโลกร้อน”

มีความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสภาพภูมิอากาศที่สำคัญ คือ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) ซึ่งเป็นเวทีการเจรจาระหว่างประเทศในระดับพหุภาคีที่ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ รวมทั้งไทยได้เข้าร่วมหารือเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหา และลดผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

โดยมีเป้าหมายและวัตถุประสงค์สำคัญของการเจรจา คือ การควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และป้องกันไม่ให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส ซึ่งจะเป็นระดับที่จะเป็นอันตรายต่อการดำรงอยู่ของมนุษยชาติอย่างแก้ไขไม่ได้

ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญา UNFCCC เมื่อปี 2537 และเมื่อปี 2545 ได้ให้สัตยาบันเข้าร่วมรับรองพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ซึ่งเป็นข้อตกลงที่กำหนดพันธกรณีในการลดก๊าซเรือนกระจกสำหรับประเทศพัฒนาแล้ว และผลักดันให้ประเทศกำลังพัฒนามีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกด้วยความสมัครใจ

และเมื่อปี 2559 ที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญา UNFCCC ได้จัดทำความตกลงปารีส (Paris Agreement) เพื่อกำหนดความร่วมมือการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกันระดับโลก

3 เป้าหมายหลัก ได้แก่ 1) การควบคุม การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และพยายามควบคุมให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม 2) การเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัว และ 3) การสร้างเงินกองทุนหมุนเวียนที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ

ในการเจรจาภายใต้กรอบอนุสัญญา UNFCCC ไทยเป็นสมาชิกกลุ่ม G77 และจีน ซึ่งประกอบด้วยประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุดรวม 134 ประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดัน

ท่าทีร่วมกัน และเพิ่มน้ำหนักและอำนาจต่อรองในการเจรจาในส่วนของประเทศไทยนั้น ได้มีการตั้งเป้าหมายการมีส่วนร่วมของประเทศ (Nationally Determined Contributions : NDC) ใน 3 สาขา ได้แก่

1) สาขาพลังงานและขนส่ง 2) สาขาของเสีย และ 3) สาขากระบวนการทางอุตสาหกรรม โดยตั้งเป้าจะลดก๊าซเรือนกระจก ร้อยละ 20-25 ภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับการดำเนินการปกติ (Business as Usual : BAU)

โดยแนวคิดหลักของการจัดทำ NDC ของไทยนั้นมีอยู่ 4 ประการ คือ 1) สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน 2) บูรณาการและต่อยอดนโยบายและแผนการพัฒนาประเทศ 3) มุ่งเน้นแผนที่ขับเคลื่อนโดยภาครัฐที่สนับสนุนการปรับรูปแบบสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และนำไปสู่การดำเนินงานได้จริง ซึ่งสามารถติดตามและประเมินผลได้ และ 4) ต่อยอด

จากการดำเนินงานในกรอบ NAMAs (Nationally Determined Mitigation Actions) ที่มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ ร้อยละ 7-20 ภายในปี 2563 โดยเน้นสาขาพลังงานและขนส่ง ซึ่งเป็นสาขาที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดของประเทศ

ทั้งนี้ จากรายงานการติดตามประเมินผลการลดก๊าซเรือนกระจกจากมาตรการภาคพลังงาน พ.ศ. 2559 ซึ่งรวมปริมาณก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานที่ลดได้ 45.72 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า คิดเป็นร้อยละ 12.45 เป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ

ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในกรุงเทพฯ มีส่วนสำคัญที่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง ปัญหาการจราจร ประกอบกับการกระจายตัวของฝุ่นละอองในชั้นบรรยากาศแย่ลง ซึ่งก็มีความสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ความกดอากาศ ลม และสภาพอากาศที่นิ่ง และหากฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้ยังถูกปล่อยเพิ่มขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง ก็อาจส่งผลกระทบต่อปัญหาภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้จึงหวังว่าการมุ่งมั่นร่วมมือดำเนินการระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง จะมีส่วนช่วยให้สถานการณ์ปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นในไทยขณะนี้คลี่คลายโดยเร็ว