ไทยขับเคลื่อนอาเซียนต่อสู้ภัยพิบัติ

คอลัมน์ เปิดมุมมอง โดย ประดาป พิบูล ทีมกรุ๊ป

 

ภัยพิบัติมิใช่สิ่งใหม่ แต่อยู่คู่กับโลกมานานหลายพันล้านปี ในอดีตภัยธรรมชาติเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยสร้างที่อยู่อาศัยให้มวลมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ต่อมาเมื่อคนเราฉลาดขึ้น รูปแบบของภัยจึงเปลี่ยนไปและสร้างความสูญเสียมากขึ้น ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการกระทำของมนุษย์เอง ที่ประจักษ์ชัดคือ หมอกควัน น้ำท่วม สภาวะก๊าซเรือนกระจก ไฟป่า รวมทั้งมลพิษในอากาศ

การต่อสู้กับภัยพิบัติจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายประชาคมระหว่างประเทศเสมอมา สำหรับอาเซียนได้ยึดยุทธศาสตร์ “หนึ่งอาเซียน : หนึ่งการตอบโต้” ไทยในฐานะประธาน มีพันธะที่จะต้องขับเคลื่อนให้องค์กรเตรียมพร้อมจนสำเร็จในปี 2563 ตามที่ผู้นำให้คำมั่นไว้ในแถลงการณ์ร่วมเมื่อปี 2559

ในระดับโลกขอบเขตของการเสริมสร้างขีดความสามารถเพื่อสู้กับภัยพิบัติ ครอบคลุมถึงการเตือนภัย การป้องกัน การเตรียมตัว การแก้ปัญหา และการฟื้นฟูผลกระทบ องค์การสหประชาชาติมีข้อมติและรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้จำนวนกว่า 134 ชิ้น เริ่มเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว ด้วยข้อมติให้มีการวิเคราะห์ภัยพิบัติทางธรรมชาติและผลกระทบ จนถึงปีที่แล้วด้วยข้อมติวางแนวทางการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ทั้งนี้ ก็เพราะตระหนักดีว่าในปัจจุบันไม่มีประเทศใดที่รับมือกับภัยพิบัติได้โดยลำพัง

ในกรอบภูมิภาค ความร่วมมือต่อสู้กับภัยพิบัติเป็นปัจจัยที่ช่วยกระชับอาเซียนให้มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นขึ้น และผู้นำได้ให้ความสำคัญมาตั้งแต่ช่วงแรกของการก่อตั้งองค์กร สำหรับอาเซียนภัยพิบัติหมายถึง “…เหตุการณ์ที่ขัดขวางหรือหยุดชะงักวิถีชีวิตของชุมชนหรือสังคม และนำไปสู่ความสูญเสียต่อชีวิต วัตถุ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง…” 

ในปี 2515 อาเซียนมีความตกลงอำนวยความสะดวกเพื่อช่วยเหลือเครื่องบินที่ประสบภัยและผู้รอดชีวิตจากอุบัติเหตุทางอากาศ และปี 2518 ขยายความร่วมมือไปถึงผู้ประสบภัยทางทะเล อย่างไรก็ดี ในปี 2519 อาเซียนเริ่มหันมาเน้นภัยธรรมชาติและยกระดับความสำคัญสูงขึ้น ภายหลังเกิดภัยพิบัติสึนามิเมื่อปี 2547 คร่าชีวิตผู้คนไปถึง 174,204 คน

ด้วยการจัดทำความตกลงปี 2548 ว่าด้วยการบริหารจัดการภัยพิบัติและตอบโต้ฉุกเฉิน ซึ่ง 3 ปีต่อมาได้เป็นพื้นฐานการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากไซโคลนนาร์กิส มีชาวเมียนมาเสียชีวิตไปถึง 138,366 คน และในปี 2556 พายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนทำให้มีผู้เสียชีวิต 36,496 คนรูปแบบ แนวทาง ขอบเขตและกลไกเพื่อตอบโต้ภัยพิบัติระบุไว้อย่างชัดเจนในความตกลงปี 2548 ดังนี้ :

– วัตถุประสงค์ เพื่อจัดเตรียมกลไลที่มีประสิทธิภาพในการลดความสูญเสีย ตลอดจนตอบโต้ฉุกเฉิน โดย “ระดมความร่วมมือของทุกภาคส่วนในชาติ” ในภูมิภาคและจากประชาคมโลก

– ประเมินความเสี่ยง จากภัยพิบัติที่มีสาเหตุจากภัยธรรมชาติหรือจากมนุษย์ ซึ่งส่งผลสะท้อนที่อันตรายหรือก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและการบาดเจ็บ ทรัพย์สิน การดำรงชีพ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม

– ประเทศภาคีมีข้อผูกพัน ที่จะต้องวางมาตรการที่เหมาะสมในการวินิจฉัยว่าอะไรคือความเสี่ยงภัยพิบัติ ติดตามประเมินความเสี่ยงนี้ และเสริมสร้างขีดความสามารถในการบริหารจัดการภัยพิบัติ

– ประเทศภาคีจะต้องวางยุทธศาสตร์การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดวางระบบเตือนภัย และร่วมมือกันวินิจฉัยค้นหาสาเหตุและผลกระทบของภัยพิบัติ และเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการลดความเสี่ยง จัดให้มีการประชุมปีละครั้งเพื่อติดตามและผลักดันให้มีการปฏิบัติตามข้อตกลง

ต่อมาในปี 2554 อาเซียนได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานอาเซียนที่กรุงจาการ์ตาเพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และล่าสุดในปี 2559 ผู้นำอาเซียนได้ตอกย้ำถึงความสำคัญของความตกลงปี 2548 โดยเน้นว่าเป็น “นโยบายหลัก” ในแถลงการณ์ร่วม “หนึ่งอาเซียนหนึ่งตอบโต้ : การรับมือกับภัยพิบัติร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวในและนอกภูมิภาค” ภัยพิบัตินับวันจะเพิ่มความรุนแรงขึ้น เพียง 6 ปีที่ผ่านมาอาเซียนประสบภัยพิบัติถึง 1,380 ครั้ง มีมูลค่าความสูญเสียกว่า 500,000 ล้านบาท

ไทยในฐานะประธานอาเซียนจะมีโอกาสได้ผลักดันความร่วมมือให้บรรลุเป้าหมาย ภารกิจนี้ภาคเอกชนจะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้มาก โดยเฉพาะในการช่วยวิเคราะห์วินิจฉัยความเสี่ยง รวมทั้งการแก้ปัญหาและบรรเทาสาธารณภัย “ภัยพิบัติ” ก็เหมือนทุกสรรพสิ่ง คือมีทั้งคุณและโทษ

นอกจาก “ความเสียหาย” แล้ว “โอกาส” ที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติก็ย่อมจะมี แต่ต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญในการมองให้เห็นและใช้โอกาสนั้นให้เป็น