ไม่ชัวร์อย่าทำ ขอคำวินิจฉัยแข่งขันทางการค้าได้ล่วงหน้า

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย สันติชัย สารถวัลย์แพศย์

ในโลกธุรกิจที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรง ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการขยายตัวของสังคมเมือง ทำให้วิถีชีวิตของประชาชนมีความเป็นอยู่แบบชุมชนเมืองมากขึ้น เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยทำให้พฤติกรรมในการบริโภคสินค้าและบริการเปลี่ยนไปตลอดเวลา ผู้ประกอบธุรกิจจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต คิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้ได้ยอดขายและส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด

แน่นอนว่าการกำหนดแผนกลยุทธ์การตลาด และการส่งเสริมการขาย เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง และมีแผนไว้ล่วงหน้าอย่างหลากหลายวิธี ผมเชื่อว่าผู้ประกอบธุรกิจทุกคนอยากเป็นคนดี ไม่มีใครต้องการกระทำผิดกฎหมายแน่นอน เพราะนอกจากจะต้องรับโทษตามกฎหมายแล้ว ในด้านสังคมยังทำให้ภาพลักษณ์ของธุรกิจตนเองเสื่อมเสียหรือติดลบไปด้วย

ดังนั้น หากสามารถสร้างความชัดเจนในสิ่งที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่า ห้ามกระทำในลักษณะใดบ้าง จะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจมีความมั่นใจในการจัดทำแผนดำเนินกิจกรรมทางการตลาดอย่างสบายใจเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบธุรกิจในการดำเนินธุรกิจได้อย่างถูกต้อง โดยไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตาม พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ซึ่งได้มีการกำหนดบทบัญญัติเพิ่มเติมจาก พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 เปิดช่องให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ามีคำวินิจฉัยเป็นการล่วงหน้า ภายใต้ขอบเขตการพิจารณาในเรื่องดังต่อไปนี้

1.การกระทำของผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด (มาตรา 50)

2.การตกลงร่วมกันกับผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นอันเป็นการผูกขาด ลดการแข่งขัน หรือจำกัดการแข่งขัน (มาตรา 54-มาตรา 55)

3.การกระทำใด ๆ ที่เป็นพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม อันเป็นผลให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น (มาตรา 57)

4.การทำนิติกรรมหรือสัญญากับผู้ประกอบธุรกิจในต่างประเทศอย่างไม่มีเหตุสมควร อันก่อให้เกิดการผูกขาด จำกัดการค้าอย่างไม่เป็นธรรม และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และผลประโยชน์ของผู้บริโภคโดยรวม (มาตรา 58)

ในการยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยล่วงหน้า จะสามารถกระทำได้คราวละหนึ่งการกระทำ หรือหนึ่งลักษณะการประกอบธุรกิจ ภายใต้บทบัญญัติหนึ่งมาตราเท่านั้น โดยจะต้องชำระค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง (ครั้งละ 50,000 บาท)

ทั้งนี้ คำวินิจฉัยล่วงหน้าของคณะกรรมการจะมีผลผูกพันเฉพาะผู้ร้องขอ และตามขอบเขตระยะเวลาที่กำหนดเท่านั้น อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการอาจมีคำสั่งยกเลิกคำร้องขอดังกล่าวได้ หากพบว่าการกระทำที่ร้องขอให้วินิจฉัย เป็นเรื่องที่สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ารับเป็นเรื่องร้องเรียนแล้ว หรืออยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนของสำนักงาน เป็นต้น

สรุปได้ว่า หากท่านไม่ชัวร์ว่าการกระทำธุรกิจจะผิดกฎหมายหรือไม่ ยื่นขอคำวินิจฉัย ล่วงหน้าได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า รับรองว่าชัวร์ และสบายใจแน่นอนครับ