อนาคตประชาธิปไตย ศก.-การเมืองหลังครบรอบ 5 ปี คสช.

แฟ้มภาพ (มติชนออนไลน์)

คอลัมน์ ดุลยธรรม

โดย อนุสรณ์ ธรรมใจ รองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ 

 

อนาคตประชาธิปไตย เศรษฐกิจการเมืองไทยหลังครบรอบ 5 ปีรัฐประหาร คสช. ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยหลายอย่างซึ่งยังมีความไม่แน่นอน หรือขึ้นอยู่กับตัวแปรบางส่วน ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมทั้งภายในและภายนอกประเทศ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้องแก้ปัญหาภายใต้หลักนิติรัฐ ใช้สภาผู้แทนราษฎรเป็นกลไกหาทางออกให้บ้านเมือง ไม่ใช้การรัฐประหารหรืออำนาจนอกระบบ เพราะจะนำพาประเทศไปสู่วังวนของวิกฤตซ้ำซาก

ภายใต้ความไม่แน่นอนทางการเมืองจะทำให้ภาคการลงทุนชะลอตัว เงินทุนไหลออก ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคถดถอยลงได้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจสะท้อนออกมาอย่างชัดเจน จากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไตรมาสแรกปีนี้ที่ระดับ 2.8% ต่ำที่สุดในรอบ 17 ไตรมาส เป็นผลมาจากการชะลอตัวของภาคส่งออกและการลงทุน

สถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศจะดีกว่านี้ หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลตามเจตนารมณ์ของประชาชนได้ในทันทีหลังทราบผลการเลือกตั้งที่ไม่บิดเบือน การเมืองเปลี่ยนผ่านจากระบอบรัฐประหารไปสู่ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ แล้วควรจะค่อย ๆ คลี่คลายดีขึ้นในอนาคต ซึ่งจำเป็นต้องผลักดันรณรงค์ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยต่อไป

ความยืดเยื้อของการประกาศผลเลือกตั้งก็ดี ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลก็ดี ล้วนไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ทั้งที่ประเทศไทยมีศักยภาพด้วยตำแหน่งทางภูมิยุทธศาสตร์ที่อยู่ใจกลางของประชาคมอาเซียน ไทยจะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจอาเซียน supply chain และ logistics หากมีระบอบประชาธิปไตยที่มีความต่อเนื่องมั่นคง

ปัญหาความเหลื่อมล้ำของการถือครองทรัพย์สินและความมั่งคั่งยังคงรุนแรงขึ้นในไทย ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นมีมากโดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างผู้ประกอบการและเจ้าของทุน กับแรงงานรับจ้างทั่วไป และเกษตรกรรายย่อยที่ปราศจากที่ดินทำกิน

มหาเศรษฐี 100 อันดับแรกของไทยมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉลี่ยของประเทศทรัพย์สินและความมั่งคั่งไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย และหนี้สินต่อครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ไทยจึงติดอันดับประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลกเป็นอันดับ 3 รองจากอินเดียและรัสเซีย ปัญหาความเหลื่อมล้ำยังเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย

เครดิตสวิสได้เคยออกรายงานความมั่งคั่งของโลกระบุว่า ไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยคนรวยที่มีสัดส่วน 1% ของประชากร ครอบครองความมั่งคั่งสูงถึง 58% ของระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ข้อมูลของโครงสร้างเงินฝากในระบบสถาบันการเงินยังพบว่าคนรวย 0.1% หรือ 65,000 คน จากประชากรทั้งหมด 65 ล้านคน มีเงินฝากเท่ากับ 49% ของเงินฝากทั้งระบบ กลุ่ม 10% แรกของประชากรเป็นเจ้าของทรัพย์สิน 79% ของประเทศ

มหาเศรษฐี 50 อันดับแรกของไทยมีสัดส่วนทรัพย์สินเทียบกับจีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้นจาก 26% ในปี พ.ศ. 2557 เป็น 30% (มีทรัพย์สินทั้งหมด 4.32 ล้านล้านบาท) ในปี พ.ศ. 2560 และสัดส่วนทรัพย์สินต่อจีดีพียังเพิ่มขึ้นอีกในปี พ.ศ. 2561 และแนวโน้มสูงขึ้นในปี พ.ศ. 2562 ภายใต้รัฐบาล คสช. หมายความว่า มีคนเพียง 50 คนที่ถือครองทรัพย์สินมากกว่า 1 ใน 4 ของจีดีพีหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศทั้งหมด

การลดอำนาจผูกขาดทางการเมืองและเศรษฐกิจจะทำให้สถานการณ์ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเคลื่อนตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ความรุนแรงของปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจนี้เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน และระบอบประชาธิปไตยจะสามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ดีกว่าระบอบเผด็จการอำนาจนิยม เนื่องจากจะทำให้อำนาจในการจัดสรรทรัพยากรมีการกระจายตัว มีการตรวจสอบถ่วงดุล

รัฐธรรมนูญปี 2560 และการเลือกตั้งที่ผ่านมายังไม่ได้มีผลต่อการปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ โดยเพิ่มอำนาจต่อรองให้ผู้ด้อยโอกาสและคนยากจน ปัญหาความเหลื่อมล้ำจะลดลงภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาเป็นประชาธิปไตย และหลักการกระจายอำนาจที่มากกว่านี้

อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างน้อยที่สุดพรรคการเมืองได้แข่งขันในการจัดสรรสวัสดิการให้กับประชาชน รัฐบาลใหม่จำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อลดอำนาจผูกขาด เพิ่มการแข่งขัน เพิ่มโอกาสการเข้าถึงปัจจัยการผลิต สวัสดิการ ลดการรั่วไหลและการทุจริตงบประมาณช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ปฏิรูปภาษีด้วยการเพิ่มภาษีทรัพย์สินผ่านกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ขณะที่การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของรัฐต้องคำนึงถึงการกระจายโอกาส กระจายผลประโยชน์ไปยังประชาชนส่วนใหญ่ ควรศึกษาการเก็บภาษีลาภลอยเพื่อนำผลประโยชน์ส่วนเกินที่ได้จากการลงทุนของรัฐไปพัฒนาพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศด้วย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในเชิงพื้นที่ลง ส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชนให้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม

หลัง 5 ปีแห่งการรัฐประหาร หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้ง สมาชิกวุฒิสภาจากการแต่งตั้ง และทุกภาคส่วนจะช่วยหาทางออกให้กับบ้านเมืองไม่กลับไปสู่วังวนของวิกฤตการณ์ความขัดแย้งรุนแรงทางการเมืองอีก และคาดหวังว่ารัฐสภาจะเลือกนายกรัฐมนตรีให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน และจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพในการบริหารประเทศต่อไป.