เพื่อนผมเป็น หุ่นยนต์

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

ในเมื่อโลกธุรกิจทั้งระบบกำลังเดินเข้าไปหาแพลตฟอร์มในโซลูชั่นต่าง ๆ จึงทำให้เกิดคำถามตามมาว่า “บุคลากร” ที่จะเข้ามาทำงานใแพลตฟอร์มต่าง ๆ เหล่านั้นจะต้องเรียนจบอะไรกันมา ถึงจะทำงานตอบสนองกับแนวทางการทำงานใหม่ ๆ ได้เพราะในเมื่อโลกแห่งการศึกษายังย่ำอยู่กับที่ โดยเฉพาะการศึกษาในระบบของประเทศไทย จึงทำให้ผมค่อนข้างหวั่นใจว่าต่อไปนิสิต-นักศึกษาที่เรียนจบในระดับปริญญาตรี-โทจะมีตลาดงานรองรับหรือเปล่า

เพราะภาคธุรกิจบางองค์กรเขาพัฒนาไปไกลมาก โดยเฉพาะกับภาคธุรกิจชั้นนำที่เป็นองค์กรในดวงใจที่พวกเขาอยากทำงานด้วย แต่เมื่อหันมามองภาคการศึกษากลับมีเพียงไม่กี่สถาบันเท่านั้นที่พยายามปรับตัวรับกับกระแสโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน

ผมไม่ทราบว่ามีเพียงกี่เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้ามองอย่างตั้งคำถามเรื่องนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วนด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรของแต่ละคณะในมหา’ลัยไม่ตอบโจทย์ผู้เรียนเท่าที่ควร จึงทำให้ผู้เรียนไม่สามารถเรียนเพื่อหางานทำในอนาคตได้

หรือหลักสูตรของแต่ละคณะพยายามตอบโจทย์ผู้เรียน แต่ค่าหน่วยกิตตลอดหลักสูตรกลับมีราคาสูง ทั้งบางหลักสูตรยังเปิดในระดับอินเตอร์ จึงทำให้ผู้เรียนที่ไม่มีงบประมาณเพียงพอไม่สามารถเรียนต่อได้ ถึงแม้จะมีกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แต่ก็อย่างที่ทราบ ๆ กัน

มีนิสิต-นักศึกษากี่เปอร์เซ็นต์ที่ชำระหนี้อย่างตรงไปตรงมาส่วนใหญ่ผิดชำระหนี้

แม้ กยศ.จะออกหลายมาตรการเพื่อขอให้พวกเขาช่วยชำระหนี้ แต่อย่างที่ทุกคนทราบกัน คำถามจึงวนกลับไปที่เดิมว่า…งั้นก็เรียนคณะอะไรก็ได้ เพื่อให้จบปริญญาตรีออกมาก่อน ส่วนงานเอาไว้ทีหลัง

สุดท้ายคนเหล่านี้ก็ไม่มีงานทำ หรือมีงานทำก็ทำในลักษณะของกรรมกรอุดมศึกษาที่แทบจะหาความภูมิใจในปริญญาบัตรของตัวเองไม่ได้เลย สุดท้ายจึงต้องก้มหน้าก้มตาทำงานแบบโงหัวไม่ขึ้น

ผ่านมาเรามักจะเห็นกรรมการอุดมศึกษาทำงานแบบสายตัวแทบขาดในแทบทุกวงจรธุรกิจคล้าย ๆ กับนักศึกษาในระดับ ปวช.หรือ ปวส.สมัยก่อน

ผมจึงมองเห็นว่าแนวทางการแก้ปัญหาการศึกษาในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทเพื่อให้พวกเขามีงานทำ โดยเฉพาะงานที่จะรองรับโลกแห่งอนาคตจะต้อง “ยกเครื่องหลักสูตร” เสียใหม่ ถ้าให้ลึกไปกว่านั้น ผมมองว่าเราควรจะ “ยกเครื่องโปรแกรม” การเรียนต่อในระดับชั้น ม.4-ม.6 ด้วย

ผมไม่ทราบว่ายังจำเป็นอีกไหมที่เราจะต้องเรียนสายวิทย์-คณิต, ศิลป์-คณิต, ศิลป์-ภาษา และอื่น ๆ อีกมากมาย

อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เพื่อที่พวกเขาจะได้มีความรู้ในการศึกษาต่อแพทย์, วิศวะ, สถาปัตย์, นิติศาสตร์, รัฐศาสตร์, อักษรศาสตร์ และอีกมากมายในระดับปริญญาตรี

ผมมองว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราควรออกแบบหลักสูตรการเรียน-การสอนกันใหม่ โดยเฉพาะในระดับ ม.4-ม.6 เพื่อที่พวกเขาจะได้มีทางเลือกในการเรียนระดับปริญญาตรีอย่างที่เขาต้องการ ไม่ใช่เรียนแบบย่ำอยู่กับที่ในทุกวันนี้

ในวันที่เรียนจบออกมายังไม่รู้เลยว่าจะไปสมัครงานที่ไหนเพราะโลกของธุรกิจเขาไม่ได้เปิดรับบุคลากรประเภทนี้อีกต่อไปแล้ว ฉะนั้น จึงไม่แปลกหรอกที่เราจะเห็นมหา’ลัยในต่างประเทศหลายแห่งเปิดสาขาและหลักสูตรใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อรองรับตลาดงานในโลกดิจิทัลแพลตฟอร์ม

หรือเราคงไม่เห็นหรอกว่ามหา’ลัยในต่างประเทศหลายแห่งเปิดรับนักศึกษาเพื่อเรียนทางออนไลน์กันมากมาย โดยให้พวกเขาเลือกเรียนแต่เฉพาะวิชาที่สนใจจริง ๆ และเรียนเพื่อนำไปใช้จริงเท่านั้น

ส่วนวิชาที่เหลือที่ไม่เกี่ยวข้องกับการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน และธุรกิจก็ไม่จำเป็นจะต้องเรียน เพราะเสียเวลาเปล่า

สู้เรียนแบบหยั่งลึกจนเข้าใจไปเลยว่าถ้าเรียนแบบนี้แล้วจะนำไปประยุกต์ใช้อะไรต่อไป

พูดง่าย ๆ คือเรียนเพื่อสร้างอาชีพเรียนเพื่อเป็นเถ้าแก่และเรียนเพื่อเป็นเจ้าของธุรกิจเท่านั้น

ผมว่าโลกแห่งการศึกษามาถึงจุดนี้แล้ว แม้เราจะเห็นตัวอย่างนี้จากสถานศึกษาหลายแห่งทั้งในประเทศและต่างประเทศก็จริง แต่กระนั้นมีอยู่เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่ประสบผลสำเร็จและทำจริง

ทั้งยังนำโลกแห่งเทคโนโลยีเข้ามาสอดแทรกเพื่อให้พวกเขารู้เท่าทันโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เฉพาะแต่การเรียนการสอนเท่านั้น หากยังมีวิธีการเรียนการสอนเพื่อให้พวกเขานำไปปรับใช้ในชีวิตจริงแห่งการทำงานด้วย

เพราะชีวิตจริงเราอาจต้องบริหารจัดการพนักงานหุ่นยนต์

ทำอย่างไรถึงจะให้หุ่นยนต์เชื่อฟังคำสั่งเรา ?

ตรงนี้เป็นกลวิธีที่โลกแห่งการศึกษาสมัยใหม่จะต้องวางพื้นฐานเพื่อให้ก้าวไปสู่โลกแห่งการทำงานในอนาคต ที่ไม่จำเป็นอีกแล้วที่ “ทีมเวิร์ก” จะต้องมาจากเพื่อนพนักงานด้วยกัน บางทีเราอาจมี “พนักงานหุ่นยนต์” อยู่ในทีมเวิร์กของเราก็ได้

หรือบางทีเราอาจมี “พนักงานหุ่นยนต์” เป็น “ดาวเด่น” ขององค์กรก็ได้

ผมถึงมีความเชื่อไงว่า “บุคลากร” ในอนาคตเขาจะต้องเรียนจบอะไรกันมาถึงจะเข้ามาทำงานในแพลตฟอร์มต่าง ๆ

ที่โลกธุรกิจหมุนเร็วเช่นนี้

น่าคิดนะครับ ?