CLMVT Forum 2019 ศูนย์กลางห่วงโซ่ยุคใหม่สู่ฮับแห่งเอเซีย

หลังจากสิ้นสุดการประชุม ASEAN Summit ลง ตัวแทนภาครัฐและเอกชนจากกัมพูชา-สปป.ลาว-เมียนมา-เวียดนาม-ไทย และ พันธมิตรรวม 14 ประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุม CLMVT Forum 2019 ในวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมานี้เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “CLMVT as the New Value Chain Hub of Asia” ว่า ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนโลกและต้องเผชิญความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงแนวโน้มการใช้นโยบายปกป้องทางการค้าและสงครามการค้า การผลักดันให้ CLMVT เป็นศูนย์กลางห่วงโซ่คุณค่ายุคใหม่แห่งเอเชียทั้งภายใน CLMVT และภายนอก รวมทั้งสร้างเครือข่ายของทุกภาคส่วนในภูมิภาค CLMVT จะช่วยเสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าร่วมกันอย่างยั่งยืน ตามหลักการสำคัญที่ประเทศไทยยึดมั่นมาตลอด คือ การเติบโตไปด้วยกัน (stronger together) โดยในยุคนี้เป็นยุคที่เรียกกันว่า “การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4” เป็นการหลอมรวมกันระหว่างเทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยีกายภาพ และเทคโนโลยีชีวภาพเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งจะเข้ามาปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต การทำธุรกิจ เศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ในขณะที่ตัวแทนกระทรวงพาณิชย์กล่าวถึงมูลค่าการค้าของประเทศ CLMV กับนอก CLMV มีมูลค่าสูงถึง 900,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และการสร้างความร่วมมือในกลุ่ม CLMV จะช่วยยกระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากปัจจุบันขยายตัว 5.1% ส่วนการค้าระหว่าง CLMV กับนอกประเทศขยายตัว 7.1% โดยมีธุรกิจที่น่าสนใจและมีโอกาสจะดึงดูดการลงทุนในกลุ่มการให้บริการโลจิสติกส์ภาคเกษตร-กลุ่มดิจิทัล

ระวังเงินเฟ้อจากเงินทุนไหลเข้า

Mr.Aditya Srinath รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์แห่งเอเชีย (ยกเว้นประเทศญี่ปุ่น) บริษัท เจ.พี. มอร์แกน ซีเคียวริตี้ สิงคโปร์ จำกัด กล่าวว่า ใน 1 ปีที่ผ่านมาหลายประเทศเผชิญกับสงครามการค้า ทำให้นักลงทุนต่างชาติเริ่มให้ความสนใจออกไปลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนมากขึ้น สิ่งที่นักลงทุนให้ความสนใจคือเรื่องของ “กฎหมาย” โดยเฉพาะเรื่องกฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งในอาเซียนมีเพียงไทยและมาเลเซียเท่านั้นที่โดดเด่นเรื่องนี้

นอกเหนือจากนี้ยังพิจารณาเรื่องของ “อัตราภาษี” และความเป็นห่วงโซ่การผลิตในหลายอุตสาหกรรม ซึ่งจะเห็นได้ว่าในกลุ่มประเทศนี้ “เวียดนาม” มีการเติบโตอย่างมาก อย่างไรก็ดี ในอนาคตประเทศไทยจะมีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการเชื่อมโยงการค้าระหว่างประเทศ โดยไทยยังมีศักยภาพในการรองรับการลงทุนและเงินทุนที่จะไหลเข้ากว่า 80,000-90,000 ล้านเหรียญ “แต่สิ่งที่น่ากังวล คือ เมื่อมีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในกลุ่ม CLMVT จะพบว่าประเทศกัมพูชา ลาว และเมียนมา ยังมีปัญหาเรื่องการจัดการเงินทุนที่ไหลเข้า โดยหากเงินไหลเข้ากัมพูชาประมาณ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มีผลกระทบต่อตลาดเงิน 5% หรือในอดีตมีการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติในเวียดนาม ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อสูงถึง 20% มูลค่าของอสังหาฯสูงขึ้น”

มาตรการดึงดูดนักลงทุน

H.E. Mr.Pan Sorasak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา กล่าวว่า ปัจจุบันกัมพูชามีเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนที่จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนที่สนใจเข้ามาลงทุน มีมาตรการจูงใจทั้งอัตราภาษี-แรงงาน และยังมีความร่วมมือกับไทยเพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ หรืออุตสาหกรรมอาหาร เพื่อต่อยอดการส่งออก ส่วน H.E. Mrs.Khemmani Pholsena รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ สปป.ลาว กล่าวว่า กลุ่มประเทศ CLMV ต้องให้ความสำคัญกับการทำงานบูรณาการกันเพื่อเสริมสร้างห่วงโซ่หรือซัพพลายเชนร่วมกัน เพื่อสร้างมูลค่าให้กับสินค้า “ลาวให้ความสำคัญในการสนับสนุนผู้ประกอบการในเรื่องนี้ และยิ่งไปกว่านั้นคือ การลงทุนเรื่องของไฟฟ้าด้วย”

H.E. Dr.Than Myint รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เมียนมา เห็นว่า เมียนมาให้ความสำคัญเรื่องเสถียรภาพทางการเมือง เนื่องจากเป็นจุดสำคัญในการดึงดูดการลงทุน ซึ่งปัจจุบันนี้เมียนมามีความสัมพันธ์ที่ดีมากขึ้น พร้อมที่จะเป็นซัพพลายเชนด้านการผลิต และเป็นฐานการผลิตให้กับนักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะ “จีน” ที่อยู่ระหว่างการขยายการลงทุนมาในภูมิภาคนี้ และยังมองไปประเทศอื่น ๆ อย่างเกาหลีใต้-อินเดีย “เรากำลังปรับปรุงแก้ไขกฎหมายการลงทุนรวมถึงกฎหมายเรื่องการจัดตั้งบริษัท การปรับปรุงระบบ การเงินและธนาคารเพื่ออำนวยความสะดวกในการปล่อยกู้ให้กับภาคธุรกิจ และมีการลงทุนเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน”

…………………

ความตกลงหุ้นส่วน เศรษฐกิจภูมิภาค (RCEP)

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวถึงการจัดทำความตกลง RCEP หรือ ASEAN+6 ซึ่งจะเป็นความตกลงการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกกับประเทศคู่เจรจาในการประชุม ASEAN Summit ครั้งนี้ “จะได้ข้อยุติภายในสิ้นปีนี้ และขณะนี้การเจรจาคืบหน้าไปมาก” 

แม้ว่าในเรื่องของแหล่งกำเนิดสินค้า (Roo) มี 16 ประเทศสมาชิกต้องการให้กฎข้อบังคับนี้อ่อนลงโดยเฉพาะเรื่องสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในอาเซียนก็ตาม ส่วนเรื่องการลงทุนยังไม่มีท่าทีรวมกันเพราะยังเห็นแตกต่างกันอยู่ ส่วนการประชุม TNC มีเป้าหมายที่จะสรุปผลการเจรจาให้ได้ใน 3 เรื่อง คือ ภาคผนวกโทรคมนาคม-การเงิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดตลาดบริการ และ e-Commerce

“ในภาพรวมการจัดทำความตกลง RCEP Progress Around คืบหน้าไปกว่า 60% สามารถเจรจาจบแล้ว 7 chapters จากทั้งหมด 20 chapters ที่เหลืออีก 13 เรื่องได้มีการเจรจากันไปตลอดและจะจบภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งใน 13 เรื่องนั้นได้ข้อสรุปแล้ว 2 เรื่อง คือ นโยบายการแข่งขัน กับการระงับข้อพิพาท เรามั่นใจว่าสมาชิกทั้ง 16 ประเทศจะเร่งผลักดันให้การเจรจาบรรลุเป้าหมาย และความตกลงฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้อย่างช้าในปลายปี 2020 สมาชิกทั้งหมดจะสามารถใช้ประโยชน์ได้จากความตกลงฉบับนี้” นางอรมนกล่าว

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่า “อินเดีย” เป็นคู่เจรจาที่มีการตั้งเงื่อนไขข้อต่อรองมากที่สุด ล่าสุดมีรายงานจากเว็บไซต์ “The Star” ว่า ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีแห่งมาเลเซีย กล่าวในระหว่างมีการประชุมว่า RCEP “ผมมีความยินดีหากเราจะสามารถสรุปข้อตกลง RCEP ได้ตามเป้าหมายปลายปีนี้โดยไม่มีอินเดียในข้อตกลงนี้เพียงเพราะเราติดขัดกับปัญหาการเจรจากับอินเดียมานานเกินไป”

ส่วน “นิกเคอิ เอเชียน รีวิว” ระบุว่า “จีน” เริ่มหมดความอดทนกับความล่าช้าใน RCEP พร้อมทั้งเสนอให้ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้-จีนเดินหน้าการเจรจาต่อไปโดยไม่จำเป็นต้องมีนเดีย-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์