ต้องทำอย่างไรในยุค “โลกป่วนควรเปลี่ยน”

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย รัชดา เจียสกุล บ.โบลลิเกอร์ฯ (ประเทศไทย)

 

ทุกกวันนี้เราอยู่ในยุคของการเปลี่ยนแปลงอย่างยุ่งเหยิง หรือที่เรียกว่า disruption หรือที่ดิฉันอยากเรียกว่า ยุค “โลกป่วน” 

ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ การเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจและสังคม การเปลี่ยนแปลงแม้สภาพแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ

ที่น่าตื่นเต้น คือ การเปลี่ยนไปมาของนโยบายสำคัญของประเทศมหาอำนาจ จนตอนนี้ทำให้ทั่วโลกต้องกังวลถึงภัยด้านเศรษฐกิจจากสงครามการค้า หลายท่านคงคิดกลัวความเปลี่ยนแปลงและห่วงประเทศไทยว่าจะปรับตัวรองรับการเปลี่ยนผ่านไปได้หรือไม่

จะทำอย่างไรหากเทคโนโลยีการผลิตแบบอัตโนมัติมาแทนที่การจ้างงาน จะทำอย่างไรถ้าฐานการผลิตสินค้าถูกย้ายกลับไปยังประเทศเจ้าของเทคโนโลยี ? จะทำอย่างไรหากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทำให้ไม่สามารถเพาะปลูกสินค้าเกษตรสำคัญที่เป็นแหล่งรายได้จากการส่งออก

ท่ามกลางความกังวลเหล่านี้ ดิฉันมั่นใจว่ายังมีโอกาสมากมาย แต่หากเราไม่ปรับตัว ไม่เริ่มเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ตายแน่นอน

ถ้าเริ่มกังวลแล้วต้องทำอย่างไร ? 

คำตอบคือต้องเริ่มปรับตัวอย่างเร็ว พยายามเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ เรียนรู้ไป ปรับตัวไป ยกตัวอย่างแรกที่ทราบว่า บุคลากรรุ่นใหม่ของกระทรวงพาณิชย์ได้ริเริ่มรองรับยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงจากภายใน โดยรวมทีมบุคลากรที่สนใจการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่เรียกสั้น ๆ ว่า ABCD Team ซึ่งหมายถึง ทีมงานที่ติดตาม และทำการศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น artificial intelligence, blockchain, cloud และ big data มาใช้กับการทำงาน และการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าไทย

พบว่าผลงานของทีมนี้ได้รับการตอบรับอย่างดี ทำให้วัยรุ่นตื่นเต้นได้หลายโครงการค่ะ เช่น ริเริ่มคิดนำ blockchain มาใช้ปรับปรุงการบริหารจัดการเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ด้วยความร่วมมือกับสถานทูตอังกฤษ กำลังจะนำ blockchain มาใช้ซื้อขายข้าวอินทรีย์ คาดว่าจะเห็นงานใหม่ ๆ อีกมากค่ะ

นอกเหนือจากการรับมือความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เราต้องให้ความสำคัญกับการรับมือทิศทางการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สังคมสูงวัย เทคโนโลยีการผลิตใหม่ ๆ เช่น การพิมพ์ 3 มิติ internet of things และการรองรับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของการบริหารห่วงโซ่อุปทานโลก

หากไทยปรับตัวและวางแผนรองรับไม่ทัน คงหมดอนาคต แต่ถ้าปรับตัวทัน แบบ “โลกป่วน เราก็ควรเปลี่ยน” จะมีโอกาสมากมาย

ช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมาได้มีโอกาสร่วมงานกับสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหน่วยงานติดตามทิศทางการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ ต้องเตรียมรองรับ ตอบความกังวล และหาโอกาสธุรกิจใหม่ ๆ รองรับ “ยุคโลกป่วน”

หลังช่วยกันหาไอเดียใหม่ ๆ จากการทำ hackathon ทั้งในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัด เช่น ที่สุรินทร์ ชลบุรี เชียงใหม่ และชุมพร โดยระดมสมองนักคิด ผู้ประกอบการ เกษตรกร ค้นหาและพัฒนาต้นแบบการค้าอุตสาหกรรม และธุรกิจบริการสมัยใหม่ ให้สอดรับกับความต้องการของตลาดโลก พร้อมนำไอเดียต่อยอดธุรกิจจริง สร้างฐานธุรกิจใหม่ ๆ

ไอเดียที่ได้จากกิจกรรมนี้น่าตื่นเต้น ดูทำได้จริง เป็นตัวอย่างว่า หากเราพยายามเรียนรู้ตลอดเวลา และเริ่มทำ จะมีโอกาสทางเศรษฐกิจสำหรับประเทศไทย ใน “ยุคโลกป่วน” นี้ได้ตัวอย่างไอเดียดี ๆ ที่ได้จากทั่วประเทศ เช่น การนำ CCTV และเทคโนโลยี AI มาใช้สร้างความน่าเชื่อถือให้การผลิตข้าว organic การผลิตสินค้าทดแทนเนื้อสัตว์เพื่อลดโลกร้อนจากการทำปศุสัตว์

การสร้าง platform ธุรกิจบริการท่องเที่ยวครบวงจรสำหรับผู้สูงวัย ธุรกิจบริการท่องเที่ยวไร้ขยะ การให้บริการขนส่งทางเรือที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ การนำขยะพลาสติกกลับมาผลิตสินค้าอุตสาหกรรมใหม่ ๆ หรือการทำ supply chain traceability ด้วย blockchain ฯลฯ ไอเดียเหล่านี้มิได้เพียงแค่ไอเดียที่คิดขึ้นเฉย ๆ แต่เป็นไอเดียที่มีการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางธุรกิจโดยละเอียด และคาดว่าจะเป็นโอกาสธุรกิจดี ๆ แทนที่ธุรกิจที่กำลังจะล้มหายตายจากไป

คำว่า disruption หรือการเปลี่ยนแปลงอันยุ่งเหยิงนี้ จะอยู่กับเราไปอีกพักใหญ่ วันนี้มองไปทางไหนก็เห็นความเปลี่ยนแปลงแบบน่าตกใจ ที่พูดกันว่าขายของได้อยู่ดี ๆ วันรุ่งขึ้นก็เงียบกริบ คนไม่ได้เดินตลาด หันไปช็อปออนไลน์หมดแล้ว เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็ง เพราะการเปลี่ยนแปลงที่มากกว่าเรื่องผลจากการเข้ามาของอีคอมเมิร์ซยังมีอีกมาก เทคโนโลยีที่มีราคาเข้าถึงได้เริ่มมีมากมายหลากหลายขึ้น และกำลังเข้ามาในชีวิตและธุรกิจของเราและของโลก

ผลตอบแทน และความคุ้มทุนจากการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ตอนนี้น่าตกใจนะคะ ที่เคยเห็นตัวเลข 10 ปีที่แล้ว กลับมาดูข้อมูลใหม่ ๆ นี่เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือเลย ใครยังไม่เริ่ม ควรต้องเริ่มเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ทำไป เรียนรู้ไป เพราะถ้าไม่รีบเปลี่ยน ขายของไม่ได้ เดี๋ยวไม่รู้จะโทษใครดีนะคะ