น้ำแล้ง-ฝุ่น PM เรื่องเดิม ๆ ของประเทศไทย

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย พัฒนพันธุ์ วงษ์พันธุ์

ชัดเจนอย่างยิ่งว่านอกจากต้องสู้กับภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งเรากำลังเจอทั้งศึกในและศึกนอกประเดประดังเข้ามาพร้อม ๆ กัน

ที่กำลังตามมาติด ๆ และภาวนาว่าอย่าได้ลุกลามมากไปกว่านี้เลยก็คือ ภาวะฝนทิ้งช่วง

จากที่ผ่านมาเดือนกรกฎาคมของทุกปีถือเป็นการเข้าสู่ฤดูฝนเต็มตัว แต่ปีนี้สถานการณ์กลับตรงกันข้าม

ตรวจสอบสถานการณ์ล่าสุด 4 เขื่อนสำคัญ เขื่อนภูมิพลมีน้ำเหลือใช้ การได้แค่ 5% จากความจุของอ่าง เขื่อนสิริกิติ์ 4% เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 8% เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 4%

ส่วนเขื่อนอื่น ๆ อาทิ จุฬาภรณ์เหลือน้ำ 3% สิรินธร 4% คลองสียัด 6% แควน้อยบำรุงแดน 8% กระเสียว 10% แม่กวง 11% ทับเสลา 13% ขุนด่านปราการชล 14% วชิราลงกรณ 17% ศรีนครินทร์ 18%

หนักสุดน่าจะเป็นเขื่อนอุบลรัตน์เหลือน้ำใช้การได้ -1%

จริงอยู่เรามีเขื่อนเก็บกักน้ำเพื่อการเกษตรกระจายอยู่ทั่วประเทศเป็นสิบ ๆ แห่ง แต่ที่มีบทบาทจริง ๆ คือ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์

ดูตัวเลขน้ำเหลือและใช้การได้ หมายความว่าสถานการณ์น้ำบ้านเราเริ่มไม่น่าไว้วางใจ

จากนี้ไปสถานการณ์น้ำฝากอนาคตไว้กับธรรมชาติเป็นหลัก ถ้าในช่วง 3 เดือนข้างหน้าปริมาณน้ำฝนยังเป็นแบบนี้ ปีหน้าจะหนักหนายิ่งกว่า

นั่นคืออาจมีน้ำเหลือเพื่อการอุปโภคบริโภค แต่ไม่มีน้ำเหลือพอให้ทำการเกษตร

อย่าลืมว่าไทยนั้นเป็นประเทศเกษตรกรรม และส่วนใหญ่เป็นรายย่อย ๆ ไม่มีทุนรอนมากมาย ทำนาขายข้าวรอบนี้เพื่อนำเงินใช้จ่ายในรอบถัดไป

ถ้าวงจรการเกษตรถูกตัดลง ผลกระทบที่ตามมาจึงมหาศาลอย่างยิ่ง

น้ำไม่ได้เกี่ยวข้องแค่การเกษตร หากยังเกี่ยวข้องโดยตรงกับภาคการผลิต อุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งจำเป็นต้องใช้น้ำเข้ามาในขั้นตอนการผลิต มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ

จำได้ว่าช่วงปี 2561 ที่ผ่านมา หน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสถานการณ์น้ำ ประเมินล่วงหน้าไว้ก่อนแล้วว่า ปี 2562 ต่อเนื่องไปถึง 2563 จากปรากฏการณ์เอลนิโญที่วนมาเป็นไซเคิล ส่งผลให้ประเทศไทยมีโอกาสประสบปัญหาภาวะภัยแล้ง

แน่นอนว่าใครก็ตามที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำต้องรับรู้ข้อมูลนี้อย่างแน่นอน

คำถามคือ เมื่อรู้แบบนี้เรามีการเตรียมความพร้อมกับเรื่องนี้อย่างไร เราให้ความสำคัญกับเรื่องน้ำแค่ไหน ที่เห็น คือ ชาวนายังไถหว่านทำนาปรังกันเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้ลดพื้นที่การเพาะปลูกใด ๆ

มองที่มาปัญหาเรื่องน้ำ อดคิดไปถึงอีกเรื่องหนึ่งไม่ได้

นั่นคือ ปัญหาฝุ่น PM ในภาคเหนือ

ไม่น่าเชื่อนะครับว่า ตอนนี้ภาครัฐแทบไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้กันแล้ว เพิ่งมีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนกับนักธุรกิจใหญ่ ๆ ในภาคเหนือ ภาคธุรกิจที่นั่นกำลังกังวลกันว่า หากปีหน้ายังมีฝุ่น PM เกิดขึ้นหนัก ๆ ซ้ำอีก ธุรกิจได้ปิดเทอมยาวกันแน่ ๆ

นักธุรกิจท่องเที่ยวรายหนึ่งบอกว่า อัตราสำรองห้องพักในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม-เมษายน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติลดต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่มั่นใจว่าทั้งเมืองจะปกคลุมไปด้วยหมอกควัน 2.5 อีกหรือไม่

แน่นอนว่าไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำแล้ง ปัญหาฝุ่น PM ทุกเสียงเพ่งมองไปที่หน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเป็นหัวขบวนหลักในการแก้ไข เลิกทำงานแบบเดิม ๆ จากที่เคยตั้งรับ รอให้มีปัญหาถึงค่อยลงมือแก้ไข ซึ่งมักจะช้าไม่ทันการ เปลี่ยนเป็นเปิดเกมรุก ป้องกันก่อนจะรอให้มีปัญหาเกิดเสียก่อน จะดีไม่น้อย

เรื่องนี้รวมไปถึงบรรดารัฐมนตรีหมาด ๆ ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้ง

แบ่งเก้าอี้ แบ่งหน่วยงานที่ต้องดูแลกันเสร็จ มาดูเรื่องน้ำ เรื่องฝุ่น PM กันบ้างก็ดี