ติดหล่ม…ค่าเงิน

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย พัฒนพันธุ์ วงษ์พันธุ์


เป็นช่วงเวลาที่ข่าวร้ายประเดประดังเข้ามาไม่หยุดหย่อน

สด ๆ ร้อน ๆ พุธ 25 กันยายนที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพิ่งมีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50%

คณะกรรมการให้เหตุผลว่า …เนื่องจากเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าที่เคยประเมิน และต่ำกว่าระดับศักยภาพ การส่งออกสินค้าหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้จากสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรง และขยายวงกว้างมากขึ้น

…ส่วนภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มชะลอลง เช่นเดียวกับอุปสงค์ในประเทศ การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลงจากรายได้และการจ้างงานที่ปรับลดลง โดยเฉพาะในภาคการผลิตเพื่อส่งออก แรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงผลกระทบจากภัยธรรมชาติ

นอกจากตรึงดอกเบี้ยนโยบายไว้เท่าเดิม กนง.ได้ปรับลดประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือจีดีพี ปี 2562 เหลือ 2.8%

จากที่เคยคาดการณ์ตอนเดือนมิถุนายน 2562 อยู่ที่ 3.3%

ถ้อยแถลงภายหลังการประชุมระบุด้วยว่า “นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้”

สร้างความผิดหวังให้กับบรรดาภาคธุรกิจที่เรียกร้องให้ กนง.มองถึงผลกระทบที่ตามมาจากการตรึงดอกเบี้ย โดยเฉพาะค่าเงินบาทที่แข็งค่า

ก่อนหน้านี้วันเดียวสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) รายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนที่ผ่านมา
หดตัวลงมาที่ 100.58 เทียบกับปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 105.22 หดตัวลง 4.4% จากออร์เดอร์คำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ลดลง

ไล่เลี่ยกัน บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย รายงานยอดขายรวมรถยนต์ทั่วประเทศในเดือนสิงหาคม 2562 ทั้งสิ้น 80,838 คัน แม้ว่ายอดขายไม่ได้แตกต่างจากเดือนก่อนหน้า แต่ถ้าเทียบกับปีที่แล้ว ยอดขายรวมลดลง 6.9%

มีข้อสังเกตคือ ตลาดรถยนต์นั่งซึ่งมียอด 33,036 คัน ลดลงเพียง 3.3% เทียบกับรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ซึ่งขายได้ 47,802 คัน ลดลง 9.2% และรถกระบะขนาด 1 ตัน จำนวน 38,202 คัน ลดลง 7.5%

ทั้งรถเพื่อการพาณิชย์ และรถกระบะขนาด 1 ตัน ซึ่งภาคธุรกิจทุกระดับนิยมใช้กัน มีตัวเลขลดลงร่วม ๆ 10% ทีเดียว

เปรียบเป็นอาการป่วยต้องยอมรับว่าอยู่ในระดับ “เอาเรื่อง”

ในอดีตช่วงเวลาเศรษฐกิจโลกแย่ ๆ เรามีตลาดส่งออก จีน และรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นตัวช่วยสำคัญ

เวลานี้ทั้ง 2 เซ็กเตอร์ ที่เคยเป็นตัวช่วยสำคัญ กำลังสำลักพิษสงครามการค้า และการแข็งค่าของเงินบาท

นักธุรกิจท่องเที่ยวรายใหญ่บ่นดัง ๆ ว่า นี่คือช่วงเวลาหนักหนาสาหัสครั้งหนึ่งในชีวิต ค่าเงินบาทที่แข็งค่าไม่หยุดทำให้การเดินทางมาท่องเที่ยวในบ้านเรากลายเป็นของแพง แต่ก็ต้องพยายามประคับประคองธุรกิจต่อไปให้ได้

นักธุรกิจด้านพลังงานระดับบิ๊กเบิ้มอีกรายบ่นซ้ำ ๆ ปัญหาค่าเงินทำให้ขีดความสามารถของภาคธุรกิจตกต่ำอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ส่วนนักธุรกิจยักษ์อีกรายยอมรับตรง ๆ เศรษฐกิจโลกคงไม่จบลงในระยะเวลาอันสั้นนี้

จริงอยู่ปัญหาเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่วนหนึ่งมีที่มาจากสงครามการค้า และเป็นที่มาของ “ข่าวร้าย” ไม่หยุดหย่อน เป็นเรื่องที่เราแทบตกอยู่ในสภาวะจำยอม

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับบ้านเรายังถูกซ้ำเติมจากกลไกทางการเมืองที่บิด ๆ เบี้ยว ๆ

เก้าอี้รัฐมนตรีถูกแบ่งโควตา มีถึง 3 พรรคที่คุมกระทรวงเศรษฐกิจ ซึ่งแต่ละคนโฟกัสแต่งานหน้าตัก ไม่มีเจ้าภาพตัวจริงในการแก้ปัญหา

ภาวะแบบนี้ไม่แปลกอะไรที่บรรดาบิ๊ก ๆ ในแวดวงธุรกิจจึงท่องแต่คาถาที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”

ถ้าไม่อยากถูกเผาจริง !!!