คอลัมน์ เปิดมุมมอง
โดย พิเชษฐ์ ณ นคร
ปัญหาหมอกควันพิษในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน และตาก วิกฤตหนักขึ้นทุกปี ส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสุขภาพอนามัยประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 และฝุ่นละอองขนาด 10 ไมครอน หรือ PM 10
แม้รัฐบาลจะยกระดับความสำคัญปัญหาดังกล่าวเป็นวาระระดับชาติ แต่สภาพปัญหาดังกล่าวในปัจจุบันที่เกิดขึ้นรุนแรงและขยายวงกว้างทั้งในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคใต้ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ขณะที่แหล่งกำเนิดมลพิษก็มาจากหลายกิจกรรมทั้งการจราจร การเผาในที่โล่ง โรงงานอุตสาหกรรม ครัวเรือน ฯลฯ การป้องกันแก้ไขจึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน
ก่อนถึงช่วงวิกฤตหมอกควันประจำปี ตั้งแต่ปลายปีนี้จนถึงต้นปีหน้า เมื่อวันที่10 ต.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานในการประชุมมอบนโยบายเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ ปี 2563 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาดไทย สาธารณสุข กลาโหม อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คมนาคม เกษตรและสหกรณ์ สำนักนายกรัฐมนตรี และ 9 จังหวัดในภาคเหนือเข้าร่วมประชุมรับนโยบาย พร้อมปล่อยขบวนคาราวานบูรณาการหน่วยงานภาครัฐ 31 หน่วยงาน รวมทั้งภาคประชาชน
เป็นการเริ่มต้นปฏิบัติการต้านการเผา และลดหมอกควันในพื้นที่ดังกล่าว โดยแบ่งสรรภารกิจให้แต่ละหน่วยงานดำเนินการตามแผนดังนี้
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
– ลดจุดความร้อน หรือ hotspot ในพื้นที่ป่าให้เป็นศูนย์ ระหว่างวันที่ 15 มี.ค. ถึงวันที่ 30 เม.ย. 2563
– ระดมสรรพกำลัง อุปกรณ์ เครื่องมือจากนอกพื้นที่มาเสริมการลาดตระเวน เฝ้าระวังและดับไฟป่า ไม่ให้เกิดการลุกลามของไฟจนไม่สามารถควบคุมได้
– เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณ วงเงิน 1 ล้านบาทต่อจังหวัด เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันปัญหาหมอกควัน ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ
– ให้ความช่วยเหลือและร่วมมือกับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนตามกลไกอาเซียน ภายใต้ข้อตกลงอาเซียนเรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนอย่างจริงจัง
กระทรวงมหาดไทย
– อำนวยการสั่งการ (single command) โดยผู้ว่าราชการจังหวัดติดตามสถานการณ์และบูรณาการสั่งการป้องกันและควบคุมการเผาในจังหวัดอย่างเคร่งครัด หากพบค่าฝุ่นละอองสูงเกินมาตรฐานให้ประกาศห้ามเผาทันที
– จัดระเบียนการเผาอย่างเป็นระบบ ให้ทยอยเผาในปริมาณที่ฝุ่นละอองไม่เกินมาตรฐาน
– สั่งการถึงระดับตำบล โดยเฉพาะตำบลที่เสี่ยงเผาซ้ำซาก ให้นายอำเภอ องค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ลงพื้นที่ดูแลอย่างใกล้ชิด
กระทรวงกลาโหม
– สนับสนุนการลาดตระเวนและดับไฟทั้งภาคพื้นดินและทางอากาศอย่างเต็มที่
– หารือในกรอบความร่วมมือของคณะกรรมการชายแดนเพื่อให้ความร่วมมือ และกำชับให้ควบคุมการเผาชายแดนอย่างเคร่งครัดกระทรวงคมนาคม
– กวดขันไม่ให้มีการเผาในพื้นที่ริมทางหลวงอย่างเด็ดขาด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
– เร่งเปลี่ยนพื้นที่เกษตรทั้งหมดใน 9 จังหวัดภาคเหนือ ไปสู่การเป็นเกษตรปลอดการเผาภายใน 3 ปี
– กำกับให้ภาคเอกชนโดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ งดสนับสนุนผลผลิตทางการเกษตรที่ได้มาจากการบุกรุกพื้นที่ป่าอย่างเด็ดขาด
– เตรียมพร้อมการทำฝนหลวงในช่วงวิกฤตหมอกควันขณะเดียวกันให้ทุกหน่วยงานสร้างความเป็นเอกภาพของข้อมูล เพื่อการสั่งการที่ถูกต้อง และลดความตื่นตระหนกของประชาชน โดยดำเนินมาตรการดังนี้
– เผยแพร่ข้อมูลจุดความร้อน พื้นที่เกิดไฟไหม้จากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์กรมหาชน) หรือจิสด้า และข้อมูลคุณภาพอากาศจากกรมควบคุมมลพิษ
– ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเชิงวิชาการที่ถูกต้องกับประชาชน โดยปรับรูปแบบการรายงานข้อมูล และสถานการณ์ให้น่าสนใจและเข้าถึงได้ง่าย รวมถึงต้องเป็นชุดข้อมูลเดียวกัน ไม่ให้เกิดความสับสน
– สื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนถึงการดำเนินงานของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของหน่วยงานให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น และให้ความร่วมมือในการป้องกันแก้ไขปัญหามากขึ้น
คิกออฟปฏิบัติการล่วงหน้าก่อนหมอกควันพิษจะถึงช่วงวิกฤต