GSP หรือสิทธิแรงงาน

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

การระงับสิทธิพิเศษทางการค้าภายใต้ระบบสิทธิพิเศษภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (generalized system of preferences หรือ GSP) ที่สหรัฐให้กับประเทศไทยจำนวน 573 รายการเป็นการชั่วคราว โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 เมษายน 2563 หรืออีก 6 เดือนข้างหน้าได้สร้างความกังวลให้กับผู้ส่งออกสินค้าไทย ที่จะปราศจาก “แต้มต่อ” ในเรื่องภาษีนำเข้าสหรัฐ จากที่เคยส่งออกภายใต้ GSP ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าเป็น 0% ก็จะต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติ (MFN rate) เฉลี่ย 4.5% แต่มีบางรายการสินค้าจะต้องเสียภาษีนำเข้ามากกว่านั้นอีก อาทิ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและเครื่องครัวเซรามิกจะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าถึงร้อยละ 26

กรมการค้าต่างประเทศพยายามให้ข้อมูลถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับการส่งออกสินค้าไทยในรายการที่กำลังจะถูกระงับสิทธิพิเศษ GSP ด้วยการคำนวณจากอัตราภาษีนำเข้าเฉลี่ย (4.5%) อย่างคร่าว ๆ ว่า น่าจะเสียหายไม่เกิน 1,800 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำมาก ๆ เสมือนหนึ่งกำลังจะบอกว่า การถูกระงับสิทธิครั้งนี้แทบไม่สร้างความเสียหายให้กับการส่งออกสินค้าไทยไปตลาดสหรัฐมากนัก จากข้อเท็จจริงที่ว่า ในปี 2561 สหรัฐนำเข้าสินค้าจากไทยในรายการที่กำลังจะถูกระงับสิทธิคิดเป็นมูลค่า 1,919 ล้านเหรียญ และในจำนวนนี้เป็นการนำเข้าภายใต้สิทธิพิเศษ GSP คิดเป็นมูลค่า 1,300 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 39,000 ล้านบาทเท่านั้น

ทว่า การคำนวณมูลค่าความเสียหายแบบนั้น ยังไม่ได้รวมโอกาสทางการค้าและความเสียหายต่อเนื่องที่จะเกิดขึ้นเป็นลูกโซ่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นโรงงานที่อาจจะต้องปิดตัวลงจากรายการสินค้าที่ต้องพึ่งพา GSP โดยไม่สามารถแข่งขันได้ คนงานที่อยู่ในโรงงานจะต้องตกงานกลายเป็นภาระของประเทศ ตลอดจนรายการสินค้าอื่น ๆ ใน 573 รายการที่ไทยไม่เคยส่งออกมาก่อน หรือเริ่มที่จะทำการส่งออกก็จะถูกตัดโอกาสที่จะได้แต้มต่อในเรื่องของภาษี เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งที่ยังคงได้รับสิทธิ

การแสดงท่าทีของรัฐบาลในทำนองที่ว่า “ถ้าไม่ได้ GSP ก็คือไม่ได้” พร้อมกับบอกว่า GSP เป็นการให้สิทธิพิเศษทางการค้าในการ “ยกเว้น” ภาษีฝ่ายเดียวที่สหรัฐให้กับประเทศกำลังพัฒนานั้นถูกเพียงครึ่งหนึ่ง เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ตลอดระยะเวลา 45 ปีของโครงการ GSP ทำไมการส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดสหรัฐ ซึ่งขณะนี้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ยังต้องพึ่งพาสิทธิพิเศษ GSP โดยล่าสุดสหรัฐได้ประกาศออกมาชัดเจนว่า ไทยในขณะนี้เป็นประเทศที่ใช้สิทธิพิเศษ GSP เป็นอันดับ 1

นั่นหมายถึง ข้อเท็จจริงที่ว่า สิทธิพิเศษ GSP ยังมีความ “จำเป็น” สำหรับการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐ หรือในทางกลับกันสามารถสะท้อนความเป็นจริงตลอดระยะเวลา 45 ปีที่ผ่านมา สินค้าไทยจำนวนมากยังไม่มีความสามารถที่จะแข่งขันในตลาดสหรัฐได้ หากจะต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราปกติ (MFN rate)

แน่นอนว่า ผู้ส่งออกไทย ซึ่งน่าจะเป็นโรงงานขนาดกลาง หรือ SMEs รากฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ที่มีความจำเป็นในการพึ่งพาสิทธิพิเศษ GSP ได้เรียกร้องให้รัฐบาลเปิดการเจรจากับสหรัฐที่ขีดเส้นตายให้กับประเทศไทยในอีก 6 เดือนข้างหน้า

ประเด็นสำคัญของการเจรจาอยู่ที่การแก้ข้อกล่าวหาของสมาพันธ์แรงงานและสภาอุตสาหกรรมแรงงานสหรัฐ หรือ AFL-CIO ที่ยื่นฟ้องต่อ USTR มาตั้งแต่ปี 2558 ว่า ประเทศไทยไม่ได้คุ้มครองสิทธิแรงงาน (work rights) ตามมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศในประเด็นสำคัญ 2 เรื่อง คือ การตั้งสหภาพแรงงานต่างด้าว กับการรวมตัวของแรงงานและการเข้าร่วมในการเจรจาต่อรอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ยากที่จะแก้ไข เพราะไทย-สหรัฐมีการเจรจาเรื่องนี้มาเกือบ 5 ปีแล้ว “แต่ไม่มีความคืบหน้าจนถูกทรัมป์ยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างในการระงับสิทธิ GSP ไทยในที่สุด”

กลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลจะต้องตัดสินใจระหว่างการรักษาผู้ส่งออกรายเล็กรายกลาง กับการคุ้มครองสิทธิแรงงาน “เกินไปกว่า” มาตรฐานโลก