ความผิดพลาดที่ต้องสลัดทิ้ง

คอลัมน์ นอกรอบ

โดย รณดล นุ่มนนท์

 

พวกเราเคยมีอาการปวดหัว ท้องไส้ปั่นป่วน หรือนอนไม่หลับ เพราะทำงานผิดพลาด เช่น ส่งอีเมล์ไปให้ผิดคน หรือคำนวณตัวเลขผิดทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนบ้างหรือไม่ ?

และหากความผิดพลาดนั้นเป็นความผิดที่ดังกระฉ่อนไปทั่วโลกเหมือนในกรณีของนิโคล โมว์เบรย์ (Nicole Mowbray) เราจะปฏิบัติตัวอย่างไร

นิโคลใฝ่ฝันทฤษฎีงานด้านสื่อมวลชนตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย และความฝันของเธอกลายเป็นจริง เมื่อ The Observer หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของอังกฤษรับเธอเข้าทำงานต้นปี 2003 ด้วยวัยเพียง 24 ปี โดยไม่มีประสบการณ์ เธอจึงถูกทดลองให้ทำงานเป็นผู้ช่วยผู้สื่อข่าวที่โต๊ะข่าวต่างประเทศ สภาพการทำงานดูโกลาหล สายโทรศัพท์เข้ามาไม่ขาดสายจากผู้สื่อข่าวที่ประจำอยู่ทั่วโลก รวมทั้งการติดต่อผ่านเครื่อง Blackberry พร้อมกับความกดดันที่ต้องส่งข่าวกองบรรณาธิการให้ทันตามเวลากำหนด ทำให้พนักงานใหม่อย่างนิโคลตื่นเต้นมาก

ช่วงนั้นเธอได้รับมอบหมายให้อำนวยความสะดวกแก่นักข่าวที่ประจำอยู่ต่างประเทศ เช่น ติดต่อเรื่องวีซ่า ซื้อตั๋วเครื่องบิน เบิกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เธอต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เช่น การหาตั๋วเครื่องบินจากลอนดอนไปเมืองดียาร์บาคือร์ (Diyarbakir) โดยที่ไม่ทราบเลยว่าเมืองนี้อยู่ที่ไหน จนมาทราบว่าเมืองนี้อยู่ในประเทศตุรกี รวมทั้งเรื่องที่เธอต้องใช้เวลาสืบหาราคาอูฐที่รถนักข่าวไปชนจนตายเพื่อที่จะเบิกค่าใช้จ่ายชดใช้เจ้าของอูฐ

นิโคล โมว์เบรย์ เธอรู้สึกพึงพอใจและภูมิใจในงานที่ได้รับมอบหมาย โดยเฉพาะได้มีโอกาสเรียนรู้และพบกับพี่ ๆ ผู้สื่อข่าวอาวุโส อย่างไรก็ตาม ช่วงวันเสาร์ที่ 2 ที่เริ่มเข้าทำงาน มาร์ติน ไบรต์ (Martin Bright) และ ปีเตอร์ เบอมองต์ (Peter Beaumont) บรรณาธิการข่าว มายื่นกระดาษที่มีข้อความสั้น ๆ ให้เธอ บอกเพียงว่าให้พิมพ์และส่งต่อให้หัวหน้าในลำดับต่อไป โดยกำชับว่า “อย่าพิมพ์ให้ผิด”

นิโคลใช้เวลาร่วม 10 นาทีพิมพ์และทบทวนหลายรอบก่อนส่งต่อให้หัวหน้า จากนั้นจึงหันไปทำงานอื่น เช้าวันรุ่งขึ้น นิโคลตื่นขึ้นพร้อมเห็นพาดหัวข่าวของ The Observer ว่า “Revealed : US dirty tricks to win vote of Iraq war” (สหรัฐใช้แผนสกปรกล็อบบี้เพื่อประกาศสงครามกับอิรัก) และมีข้อความที่เธอพิมพ์เป็นรายละเอียดต่อท้าย ซึ่งคืออีเมล์ที่แคทารีน กัน (Katharine Gun) เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองอังกฤษได้รับจากหน่วยความมั่นคงของสหรัฐให้ช่วยขุดคุ้ยประวัติส่วนตัวของผู้แทนประเทศที่อยู่ในคณะมนตรีความมั่นคงฯ เพื่อนำมาใช้แบล็กเมล์ให้ลงมติสนับสนุนก่อสงครามกับอิรักนั่นเอง

แน่นอน นิโคลตื่นเต้นกับข่าวที่พาดหัวนี้ แต่อีกประเดี๋ยวหนึ่ง หัวหน้าก็โทรศัพท์มาหาพร้อมให้เธอเข้าไปในที่ทำงานในวันจันทร์ทั้ง ๆ ที่เป็นวันหยุด เธอสงสัยมากกระทั่งมีข่าวจากหน่วยความมั่นคงของสหรัฐตอบโต้ว่าอีเมล์ฉบับนั้นไม่มีจริง เพราะภาษาที่เขียนเป็นภาษาเขียนแบบบริติชอังกฤษ ไม่ใช่เขียนแบบอเมริกัน เป็นเรื่องที่ The Observer กุข่าวขึ้นเอง นิโคลจึงทราบว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะเธอเป็นคนเปลี่ยนเขียนคำในอีเมล์ฉบับนั้นจาก “recognize” เป็น “recognise” จาก “emphasize” เป็น “emphasise” และจาก “favorable” เป็น “favourable” เพื่อให้ถูกต้องตามที่หัวหน้าสั่ง

คืนนั้นทั้งคืนเธอนอนไม่หลับ ท้องไส้ปั่นป่วนไปหมด เพราะกลายเป็นต้นเหตุที่ทำให้การเปิดโปงของแคทารีนกลับตาลปัตร เป็นข้อพิพาทถกเถียงกันไปทั่วโลก นิโคลคิดว่าต้องถูกไล่ออกจากงานแน่ ๆ รุ่งขึ้นเช้าวันจันทร์ นิโคลเข้าไปที่ทำงานด้วยใจที่สั่นคลอน ก้มหน้าเดินแบบไม่สบตาเพื่อนร่วมงาน เธออธิบายให้มาร์ตินและปีเตอร์ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ผิดคาด ทั้งสองคนไม่ได้เกรี้ยวโกรธ แต่กลับตบไหล่ให้กำลังใจ เพื่อนร่วมงานเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและยอมรับว่า ทุกคนต้องมีส่วนร่วม เพราะไม่มีใครสังเกตเห็นความผิดพลาดของอีเมล์กระทั่งถูกตีพิมพ์ และเมื่อแคทารีนออกมาเปิดเผยว่าเธอเป็นผู้เปิดโปง ทำให้สาธารณชนรับรู้ว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวจริงในที่สุด

นิโคลทำงานกับโต๊ะข่าวต่างประเทศของ The Observer ต่อจากนั้นอีก 3 ปี ได้เรียนรู้ เพิ่มประสบการณ์จนกลายเป็นผู้สื่อข่าวที่เติบโตเพียบพร้อมด้วยคุณวุฒิและวัยวุฒิ ก่อนผันตัวเองเป็นนักเขียนในหนังสือพิมพ์และวารสารชั้นนำอีกหลายฉบับ รวมทั้งเป็นรองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Telegraph และวารสาร Vogue ก่อนตัดสินใจเป็นนักเขียนอิสระเน้นด้านสุขภาพ โดยเขียนหนังสือชื่อ Sweet Nothing เล่าประสบการณ์ของเธอเมื่อหยุดบริโภคน้ำตาล

อย่างไรก็ดี ความผิดพลาดครั้งนั้นยังเป็นแผลในใจตลอดมา และเมื่อทราบว่าเหตุการณ์ Whistleblower ของแคทธารีน กัน ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อ “OFFICIAL SECRETS” นำแสดงโดย เคียร่า ไนต์ลีย์ ยิ่งสร้างความสะเทือนใจ นิโคลเขียนเล่าความในใจผ่านบทความหนังสือพิมพ์ The Guardians ว่า ต้นปี 2018 ได้พบกับ ฮานาโกะ ฟุตแมน นักแสดงที่จะแสดงเป็นตัวเธอ บทสนทนาของทั้งสองเป็นเรื่องบรรยากาศการทำงานในช่วงนั้น ฮานาโกะต้องการทราบว่านิโคลแต่งตัวอย่างไร ฮานาโกะไม่สามารถเผยรายละเอียดภาพยนตร์ ทำให้นิโคลต้องรีบชิงบอกว่า บทภาพยนตร์เป็นอย่างไรฉันไม่สนใจ แต่อยากให้รับรู้ว่า “ฉันไม่ได้ถูกไล่ออกจากงาน”

รอบปฐมทัศน์ต้นเดือนตุลาคม นิโคลได้รับเชิญให้เข้าร่วมชมภาพยนตร์ด้วย เธอต้องใช้ความกล้าหาญกล้าเผชิญความจริงจากแผลในใจยาวนานกว่า 16 ปีเพื่อชมภาพยนตร์ให้จบเรื่อง เธอยอมรับว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ทรงพลังมาก แสดงให้เห็นถึงความเสียสละและกล้าหาญของแคทารีน ที่ออกมาเปิดโปงความจริงให้คนทั่วโลกได้รับรู้ ขณะที่ฮานาโกะแสดงได้สมบทบาทราวกับเป็นตัวจริง ตอนท้ายนิโคลกล่าวว่า “ฉันขอแนะนำว่า เราไม่ควรจะนำความผิดพลาดมาเป็นตราบาปและเป็นอุปสรรคต่อการทำงานไปชั่วชีวิต เราต้องสลัดทิ้ง

และตราบใดที่เรากล้าเผชิญกับความจริง มีหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานที่เข้าอกเข้าใจ นำความผิดพลาดนั้นมาเป็นบทเรียนที่สำคัญเพื่อปรับปรุงตนเอง เราก็จะหวังได้ว่าความผิดที่สำคัญครั้งนั้นจะเป็นครั้งสุดท้าย” (I wouldn”t recommend carrying the burden of catastrophic through one”s career. You can move forward by being focused, positive, productive and getting on with the job. It was my first seri-ous mistake, and hopefully it will be my last.)

แหล่งที่มา 1/ Metro Newspaper UK. (2019). Trends : Nicole Mowbray”s big mistake. [online] Available at : https://www.metro.news/have-you-ever-made-a-work-mistake-so-huge-itscaused-an-international-incident-and-been-featured-in-a-film-no-nicole-mowbrayhas/1740939/ [Accessed 20 Oct. 2019]. 2/ Mowbray, N. (2019). “You”ve caused an international incident” : how my work mistake came back to haunt me. [online] the Guardian. Available at : https://www.theguardian.com/film/2019/jul/27/international-incident-work-mistakeofficial-secrets-film [Accessed 20 Oct. 2019]