สูตรเดิมแก้ร้อนแล้งวิกฤตซ้ำซาก

บทบรรณาธิการ

สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปจากภาวะโลกร้อน ทำให้ฟ้าฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ปรากฏการณ์ทางธรรมชาตินำมาซึ่งปัญหาอุทกภัย วาตภัย ร้อนแล้งขาดแคลนน้ำรุนแรงกว่าในอดีต พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหรือเสียหายก็ขยายวงกว้างมากขึ้น

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำและสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลางทั่วประเทศ 447 แห่ง เมื่อ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมาว่า มีปริมาตรน้ำรวม 49,078 ล้าน ลบ.ม. เทียบกับช่วงเดียวกันปี 2561 อยู่ที่ 60,141 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 25,193 ล้าน ลบ.ม. เทียบกับปี 2561 ที่ 36,211 ล้าน ลบ.ม. เท่ากับปริมาณน้ำใช้การได้ในภาพรวมลดลง 11,018 ล้าน ลบ.ม.

เฉพาะลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด ซึ่งพึ่งพาน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก คือ ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน ป่าสักชลสิทธิ์ ปริมาณน้ำรวม 11,633 ล้าน ลบ.ม. หรือ 47% ของความจุ ใช้การได้ 4,937 ล้าน ลบ.ม. หรือ 27% เทียบกับปี 2561 ที่ 19,012 ล้าน ลบ.ม. ใช้การได้ 12,316 ล้าน ลบ.ม. เท่ากับน้ำใช้การได้ลดลงกว่าครึ่ง

ฝนฟ้า ภูมิอากาศที่ผันแปร แนวโน้มฤดูฝนปี 2563 จะมาล่าช้าเป็นไปได้สูง บวกกับสถานการณ์น้ำในเขื่อนกักเก็บน้ำสำคัญลดน้อยลงมาก โดยเฉพาะภาคอีสาน เหนือ กลาง ตะวันออก จึงเสี่ยงที่ภาวะร้อนแล้ง ขาดแคลนน้ำ จะกระจายครอบคลุมมากขึ้น รวมทั้งเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่รัฐกำลังผลักดันการลงทุน

ทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณเตือนภัยให้ทุกภาคส่วนเตรียมรับมือ ขณะที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย ฯลฯ จะนิ่งนอนใจไม่ได้ ทุกหน่วยงานทั้งระดับนโยบาย ฝ่ายปฏิบัติต้องรู้และตระหนักถึงสภาพปัญหา

การจัดทำแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นควบคู่เร่งแผนแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งระยะยาว ที่ยังไปไม่ถึงไหนต้องเร่งเดินหน้า ขณะเดียวกันการรับมือภัยแล้งทุกปีที่ผ่านมา ที่เน้นบริหารจัดการปัญหาโดยจัดลำดับความสำคัญน้ำอุปโภคบริโภคแม้เป็นเรื่องถูกต้อง แต่ที่ต้องให้ความสำคัญ คือ การลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ฯลฯ

เพราะถ้าแล้งรุนแรง ถึงขั้นจำเป็นต้องลดหรือจำกัดการใช้น้ำทำนา เพาะปลูกพืช การใช้น้ำในโรงงานอุตสาหกรรมเข้มข้นขึ้นกว่าทุกปี นอกจากกระทบต่อเนื่องถึงเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน จะเติมเศรษฐกิจให้ย่ำแย่ลงอีก

ที่สำคัญจะส่งผลด้านลบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนผลพวงจากปัญหาขาดแคลนน้ำ จึงอยู่ที่รัฐบาลจะพลิกวิกฤตร้อนแล้งให้เป็นโอกาสประเทศ หรือยังแก้ปัญหาปีต่อปีแบบเดิม ๆ แล้งซ้ำซากถาวร