ตั้งรับ “โควิด ระยะ 3” นโยบายการเงิน-การจัดการงบประมาณ

เครดิตภาพ : Thaigovt

คอลัมน์ ดุลยธรรม

โดย อนุสรณ์ ธรรมใจ

ในการเตรียมรับมือกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และภัยแล้ง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรศึกษาเพื่อเตรียมนำเอาการใช้มาตรการ QE หรือมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ มากเป็นพิเศษมาใช้ ถ้ามีความจำเป็นระยะ 1-2 เดือนข้างหน้า กรณีประเทศไทยเข้าสู่การแพร่ระบาดระยะที่ 3 แล้วไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาด จนส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจรุนแรง เสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะความถดถอยรุนแรงมากขึ้น แต่หากควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี ในระยะที่ 3 ก็ไม่ต้องนำมาตรการ QE มาใช้ แต่ขอให้คณะกรรมการ ธปท.เตรียมศึกษาไว้ก่อน

มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณมากเป็นพิเศษ หรือ QE พร้อมกับการลดอัตราดอกเบี้ยแรง ๆ ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้อีก ช่วยกระตุ้นการส่งออก การท่องเที่ยวได้บ้าง จากความสามารถในการแข่งขันด้านราคาที่ดีขึ้น ในภาวะการชะลอตัวของอุปสงค์ของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้จะช่วยดึงให้ราคาสินค้าเกษตรในรูปเงินบาทปรับตัวสูงขึ้นได้บ้าง โดยมีแรงกดดันเรื่องเงินเฟ้อน้อยมาก เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวอ่อนลงต่ำสุดในรอบหลายปี

ส่วนภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตภาคเกษตร ลดลง ดันให้ราคาสูงขึ้นนั้นจะมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อไม่มาก เพราะราคาผลผลิตทางด้าเกษตรกรรมหลายตัวในตลาดโลกยังคงเป็นทิศทางขาลงอยู่ ขณะที่ไทยมีอัตราเงินเฟ้อต่ำ และมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืดมากกว่า นอกจากนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนและการบริโภคได้ระดับหนึ่ง รวมทั้งช่วยลดต้นทุนทางการเงินลง เพราะประสิทธิภาพของนโยบายการเงินและกลไกการส่งผ่านการลดดอกเบี้ยจะส่งผลต่อเศรษฐกิจดียิ่งขึ้น มั่นใจว่ากลไกการส่งผ่านนโยบายการเงิน (ดอกเบี้ย) และระบบธนาคารพาณิชย์ จะตอบสนองต่อการลดดอกเบี้ยได้มากขึ้น

ส่วนการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ QE ของธนาคารกลาง และการใช้อัตราดอกเบี้ยระดับต่ำนานกว่าปกติ จะทำให้หน่วยเศรษฐกิจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นครัวเรือน หรือภาคธุรกิจเอกชน อาจประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เกิดความเสี่ยงในอนาคต เป็นสิ่งที่มีความเป็นไปได้น้อยมาก เนื่องจากทิศทางดอกเบี้ยทั่วโลกจะไม่พลิกผันกลับมาเป็นขาขึ้นอีกหลายปีข้างหน้า

ส่วนแนวคิดในการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นนั้น ความผันผวนและความอ่อนไหวของตลาดการเงินเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงมากกว่าปกติอยู่แล้ว เมื่อเจอกับปัจจัยลบที่มีความไม่แน่นอนสูง การเตรียมจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อตลาดการเงินและนักลงทุน และชะลอผลกระทบจาก wealth effect เป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการได้ เพื่อประคับประคองสถานการณ์ แต่ต้องไม่ใช้เงินภาษีประชาชนหรือเงินสาธารณะ และต้องมุ่งดูแลผลประโยชน์ของกองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของพนักงานต่าง ๆ เป็นต้น เพราะจะส่งผลต่อทรัพย์สินและรายได้ของผู้ที่กำลังจะเกษียณอายุ

พึงเข้าใจว่า หุ้นเป็นทรัพย์สิน เป็นความมั่งคั่ง (wealth) ของเอกชน การลงทุนในตลาดการเงิน ไม่ใช่การผลิต ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจ้างงานหรือการสร้างรายได้โดยตรง เช่นเดียวกับการลงทุนในภาคเศรษฐกิจจริง และเป็นเรื่องแต่ละบุคคล และนิติบุคคลที่จะเลือกลงทุน จึงต้องรับความเสี่ยง และหากจะดำเนินการต้องทำอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดการขาดทุนในภายหลัง

ส่วนการจัดสรรงบประมาณ มาตรการทางการคลังและการบริหารหนี้สาธารณะ รัฐบาลจำเป็นต้องนำงบประมาณปี 2563 มาทบทวนใหม่ และจัดเตรียมงบประมาณปี 2564 โดยต้องนำผลกระทบของโรคโควิด-19 มาพิจารณาในฐานะปัจจัยสำคัญด้วย ขอเสนอให้มีการจัดสรรงบประมาณปี 2563 ใหม่ โดยงบฯกลาง 518,770 ล้านบาท ควรนำมาจัดสรรให้กับกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มเติม เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดในวงกว้างในระยะที่ 3 หากมีผู้ป่วยพร้อม ๆ กันในระดับมากกว่า 10,000 คนขึ้นไป เพราะหอแยกและอุปกรณ์เครื่องช่วยหายใจสำหรับผู้ป่วยไม่เพียงพอ โรงพยาบาลของรัฐไม่สามารถรองรับได้ ต้องจัดสรรงบฯให้โรงพยาบาลเอกชนร่วมให้บริการ และทำให้ผู้ป่วยทุกคนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจ ต้องปรับลดงบประมาณการจัดซื้ออาวุธหรืองบประมาณอื่น ๆ ที่สามารถเลื่อนการใช้จ่ายออกไปก่อนได้หรือไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน

โดยนำงบประมาณส่วนนี้ใช้สำหรับการตรวจโรคโควิด-19 เพื่อให้ประชาชนชาวไทยทุกคนเข้าถึงสิทธิในการตรวจโรคและรักษาโรคฟรีทั้งหมด นำงบประมาณมาจัดสรรเป็นค่าชดเชยการขาดรายได้สำหรับผู้ใช้แรงงานหรือลูกจ้างรายวันที่ต้องขาดรายได้ จากการหยุดทำงานเพื่อกักตัวตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาด หากงบประมาณไม่เพียงพอ ขอให้พิจารณาก่อหนี้สาธารณะหรือกู้เงินเพิ่ม เพื่อซื้ออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันแพร่ระบาดโควิด-19 และรักษาโรคให้เพียงพอ โดยเฉพาะโรงพยาบาล

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยจะเผชิญกับภัยแล้งค่อนข้างรุนแรง รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังจึงควรจัดทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มเติมจากระดับ 454,000 ล้านบาท เป็น 600,000 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้สำหรับป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และรองรับผลกระทบทางเศรษฐกิจด้วยการลงทุนภาครัฐ โดยเน้นไปที่การจ้างงานใหม่ ๆ และการลงทุนระบบชลประทาน โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นต้น