อุตฯรถยนต์ อย่าเพิ่งหมดหวัง

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย อมร พวงงาม

วันก่อน อ่านข้อมูลศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ทำวิเคราะห์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ในบ้านเรา

แม้ว่าจะดูน่าใจหาย

เพราะทั้งระบบกระทบกระเทือนหลายแสนล้าน

แต่ก็ยังมีมุมดี หรือที่พูดกันติดปากว่า ในวิกฤตยังมีโอกาส

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไทย

โดยกดดันสู่จุดต่ำสุดในรอบกว่า 9 ปี

ด้วยปริมาณการผลิตที่อาจหดตัวสูงถึง 25% หรือผลิตได้ราว 1,520,000 คัน

ขณะที่การส่งออกอาจทำได้เพียง 750,000 คัน หรือลดลงกว่า 29%

อีกทั้งตลาดในประเทศที่เผชิญกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจ

อาจทำให้ยอดขายลดลงถึง 21% หรือประมาณ 800,000 คัน

ดังนั้น คาดว่าการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์เข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง

อาจเป็นช่วงกลางปี 2564 หรือต้นปี 2565

หลังเกิดกรณีชัตดาวน์การผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนในจีน

ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไปทั่วโลก

สิ่งที่ค่ายรถอาจต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนให้ยืดหยุ่นมากขึ้นในระบบการผลิต

คือ การกระจายความเสี่ยงจัดหาชิ้นส่วนรถยนต์ในห่วงโซ่อุปทาน

โดยแนวทางที่ค่ายรถนำมาใช้อาจแบ่งเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ การผ่อนคลายระบบการผลิตแบบ just in time ลง

เพราะการมีสต๊อกวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่เตรียมไว้น้อย กลับเป็นผลเสียต่อทั้งห่วงโซ่อุปทาน

ส่วนอีกแนวทางหนึ่ง คือ การย้ายฐานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์บางกลุ่มออกจากจีน

ไปรวมศูนย์ยังฐานการผลิตระดับยุทธศาสตร์ของภูมิภาคที่มีศักยภาพ

ทั้งในแง่ของต้นทุนการผลิตต่ำ พร้อมทั้งมีขนาดกำลังการผลิตที่ใหญ่มากพอ

ซึ่งไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศตัวเลือกของค่ายรถและผู้ผลิตชิ้นส่วน

นอกจากนี้ พฤติกรรมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงด้วยการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล

เริ่มเข้ามาสู่กระบวนการผลิตในโรงงาน เพื่อป้องกันการติดเชื้อและควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด

ทำให้โรงงานประกอบรถยนต์และผลิตชิ้นส่วน มีแนวโน้มที่จะจัดสภาพการทำงานของพนักงาน

ให้สอดคล้องตามหลักการ social distancing รวมถึงการนำหุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติต่าง ๆ

เข้ามาช่วยในกระบวนการผลิตอย่างเข้มข้น

แม้ในระยะสั้นจะทำให้ต้นทุนเพิ่ม

แต่ในระยะยาวจะสามารถบริหารจัดการต้นทุนและคุณภาพสินค้าได้ดีขึ้น

และลดความเสี่ยงจากปัญหาที่เกิดจากคนงานลง

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แม้จะก่อให้เกิดการชะงักงันครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย

แต่ในอีกทางหนึ่งอาจเป็นโอกาสให้กับประเทศไทย ถ้าหากมีการเตรียมพร้อมเพื่อดึงดูดการลงทุนอย่างเหมาะสมในอนาคต

โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า

ซึ่งรัฐบาลกำลังผลักดันอย่างเต็มที่

บางครั้งสิ่งที่มองว่าเป็นเรื่องแย่ ๆ ก็มีส่วนที่ดีแฝงอยู่ด้วยเช่นกัน