ยุทธศาสตร์ Farm to Fork ผลิตอาหารยั่งยืน-เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

คอลัมน์ ช่วยกันคิด
โดย สนง.ที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป ได้ติดตามและศึกษายุทธศาสตร์ Farm to Fork ที่สหภาพยุโรปยกร่างขึ้น และเพิ่งผ่านขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของสาธารณะ และได้พิจารณาเลื่อนการประกาศเผยแพร่เอกสารรายละเอียดยุทธศาสตร์ F2F ออกไปจากเดิมภายในเดือนมีนาคม 2563 เนื่องจากอยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการและเกษตรกรต้องเตรียมความพร้อมและปรับตัวให้สอดคล้องกับนโยบายและมาตรการของสหภาพยุโรป เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาอุปสรรคทางการค้าในอนาคต

ทั้งนี้ สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตร ประจำสหภาพยุโรป สรุปสาระสำคัญของยุทธศาสตร์ดังกล่าว ดังนี้

1.นโยบาย European Green Deal นโยบายหลักของชุดคณะกรรมาธิการยุโรปชุดปัจจุบัน (2563-2567) ให้การรับรองว่า “ประชากรยุโรปจะเข้าถึงอาหารที่มีประโยชน์ ปลอดภัย ในราคาเหมาะสม นำไปสู่ระบบอาหารที่ยั่งยืน” ผ่านยุทธศาสตร์ Farm to Fork (F2F)

2.ยุทธศาสตร์ F2F มีวัตถุประสงค์พัฒนาระบบผลิตอาหารที่ยั่งยืน ยุติธรรม มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่กระบวนการผลิต แปรรูป ตลาด จนถึงการบริโภคของมนุษย์และสัตว์ นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์ F2F ยังเสริมสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การปกป้องป่าไม้และสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมสังคมไร้มลพิษ (zero pollution)

3.เป้าหมายและแผนการดำเนินงาน ที่สำคัญภายใต้ร่างยุทธศาสตร์ F2F มีดังนี้

1) เป้าหมายที่ 1 พัฒนาการผลิตอาหารที่ยั่งยืน

-สารปราบศัตรูพืช ทบทวนกฎระเบียบการใช้สารปราบศัตรูพืช กำหนดวิธีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงต่ำ ไม่ใช้สารเคมี

-ปุ๋ย พัฒนาวิธีการนำธาตุอาหาร (nutrients) มาใช้ทำการเกษตร และเพิ่มการหมุนเวียนในห่วงโซ่อุปทาน

-เมล็ดพันธุ์และส่วนขยายเมล็ดพันธุ์พืช อำนวยความสะดวกการขึ้นทะเบียน การนำสายพันธุ์พืชดั้งเดิม หรือมีการปรับปรุงมาใช้ เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ

-สุขภาพพืช ปรับปรุงข้อกำหนดด้านการตรวจสอบควบคุมการนำเข้าพืช การจัดการศัตรูพืช และการตรวจสอบย้อนกลับเพื่อให้มีความทันสมัย

-ยาด้านจุลชีพในสัตว์ จัดทำบัญชีรายชื่อยาด้านจุลชีพที่อนุญาตให้ใช้กับมนุษย์เท่านั้น ห้ามใช้ยาด้านจุลชีพนอกเหนือฉลากระบุไว้ และกำหนดค่าตกค้างสูงสุดของยาด้านจุลชีพในอาหารสัตว์

-สวัสดิภาพสัตว์ ยกระดับการควบคุมและการปฏิบัติตามระเบียบสวัสดิภาพสัตว์ รวมทั้งการใช้มาตรการอุดหนุนภายใต้นโยบายเกษตรร่วม (CAP) ในการส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์

-อาหารสัตว์ ทบทวนขยายขอบเขตการอนุญาตสารเสริมการเลี้ยงปศุสัตว์ที่ยั่งยืน ปรับปรุงกฎระเบียบด้านการตลาดอาหารสัตว์ ให้มีการใช้วัสดุอาหารสัตว์ที่ยั่งยืน เช่น โปรตีนจากแมลง อาหารสัตว์จากทะเล และชีวมวลจากการหมักมวลชีวภาพ เป็นต้น

-มาตรฐานด้านการตลาดสินค้าเกษตร ประมง สัตว์น้ำเพาะเลี้ยง ลดอุปสรรคสร้างโอกาสในการผลิตอาหารที่ยั่งยืน

-เกษตรอินทรีย์ พัฒนาแผนการดำเนินงานด้านเกษตรอินทรีย์สำหรับปี 2564-2567 รวมทั้งกระตุ้นความต้องการและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค

-การรวมกลุ่มของผู้ผลิต ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติที่ดีด้านการเกษตร ประมง รวมทั้งให้บริการคำปรึกษาด้านการผลิตที่ยั่งยืน เพื่อให้การผลิตเป็นไปตามกฎระเบียบและมาตรการที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ

2) เป้าหมายที่ 2 สนับสนุนแนวทางปฏิบัติในการแปรรูปอาหาร การค้าปลีก และการบริการอาหารที่ยั่งยืน

-ความรับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจ ครอบคลุมแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนทั้งห่วงโซ่อุปทาน พัฒนาคุณค่าทางโภชนาการลดคาร์บอนฟุตพรินต์ในการผลิตอาหาร

-บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน ลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่มากเกินไปกลางปี 2564 ทบทวนกฎระเบียบวัสดุที่ใช้สัมผัสอาหาร

3) เป้าหมายที่ 3 สนับสนุนการบริโภคอย่างยั่งยืนและดีต่อสุขภาพ

-การเลือกอาหารที่ยั่งยืน ปรับปรุงการแสดงข้อมูลโภชนาการ พัฒนาระบบให้ข้อมูลผู้บริโภค อาจกำหนดให้ติดฉลากแสดงข้อมูลโภชนาการบนหน้าผลิตภัณฑ์ (front-of-pack nutrition labelling) แสดงแหล่งที่มา รวมทั้งข้อมูลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ หรือสังคม พัฒนาห่วงโซ่อุปทานอาหารให้สั้นลง ลดผลกระทบจากการขนส่ง และการส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์

-การบริโภคอาหารที่ยั่งยืนและดีต่อสุขภาพ เช่น สนับสนุนการกินผักและผลไม้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในโรงเรียน โรงพยาบาล หรือองค์การมหาชน รวมทั้งการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

4) เป้าหมายที่ 4 ลดความสูญเสียและขยะจากอาหาร ในระดับสหภาพยุโรป ภายในปี 2563-2567

5) เป้าหมายที่ 5 ต่อสู้กับอาหารปลอมแปลงและยกระดับการตรวจสอบควบคุมตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ในระดับสหภาพยุโรป ภายในปี 2563-2567

6) เป้าหมายที่ 6 เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ

-ความร่วมมือกับประเทศที่ 3 ที่อยู่ระหว่างการเจรจา หรือที่จะมีในอนาคต จะต้องทำการผนวกประเด็นด้านการค้าและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

-สนับสนุนความร่วมมือภายในองค์กรระหว่างประเทศ เช่น โครงการสนับสนุนการผลิตและสุขภาพสัตว์ที่ยั่งยืนของ FAO/IAEA การจัดการปัญหาการดื้อยาด้านจุลชีพ และการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น