คอลัมน์ สามัญสำนึก
สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์
แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะออกมาระบุว่าเศรษฐกิจไทยจะผ่านจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2 ด้วยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี “ติดลบ” กว่า 10% ล่าสุด “ดร.วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า หากโควิดไม่มีการระบาดรอบ 2 เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้ในปลายปี 2564 ในรูปแบบเครื่องหมายถูกหางยาว หรือ NIKE shaped
แต่ใช่ว่าตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3-4 ที่ติดลบน้อยลง แล้วประชาชนจะกินดีอยู่ดีขึ้น เพราะขณะนี้เห็นสัญญาณชัดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะเห็นปรากฏการณ์ธุรกิจเอสเอ็มอีต่าง ๆ ทยอยปิดกิจการมากขึ้นเรื่อย ๆ
เมื่อรัฐบาลคลายล็อกดาวน์ธุรกิจกลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้ง แต่รายได้หลังโควิด-19 ไม่คุ้มกับต้นทุนค่าใช้จ่าย เพราะหลังโควิดทุกอย่างไม่เหมือนเดิม
หลาย ๆ ธุรกิจประกาศปิดกิจการ หรือเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย ทั้งปัญหาสะสมมาอยู่ก่อนแล้ว และโควิด-19 ทำให้ปัญหาเด่นชัดมากขึ้น และทำให้เจ้าของต้องยอมจำนน
ธุรกิจท่องเที่ยวโดนผลกระทบจากโควิด-19 แต่ต้องยอมรับว่าแหล่งท่องเที่ยวย่านพัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่
นักลงทุนแข่งกันเปิดโรงแรม ร้านอาหาร จนเกิดปัญหาโอเวอร์ซัพพลายมาอยู่ก่อนแล้ว
ดังนั้นเมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบปีละ 40 ล้านคนหายวับไป ซึ่งแบงก์ชาติประเมินว่าปีนี้น่าจะเหลืออยู่ราว 8 ล้านคน และต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาเหมือนเดิม
หมายความว่าปัญหาโอเวอร์ซัพพลายก็จะยิ่งรุนแรงมากขึ้น ทำให้หลังจากนี้คงได้เห็นโรงแรม-ร้านอาหารจำนวนมากต้องประกาศปิดกิจการ-ขายกิจการ หรือควบรวมกัน
รวมถึงธุรกิจ “ร้านแลกเงิน” ก็ประสบปัญหาอย่างหนัก โดย นางชนาพร พูนทรัพย์หิรัญ อุปนายกสมาคมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ประเมินว่าร้านแลกเงินต้องทยอยปิดกิจการกว่า 70% จาก 2,300 แห่ง เพราะทั้งการเดินทางของต่างชาติ และคนไทยลดลงทั้ง 2 ด้าน
แม้กระทั่งร้านแลกเงินชื่อดังอย่าง “ซุปเปอร์ริชสีส้ม” นายปิยะ ตันติเวชยานนท์ ก็ยอมรับว่า บริษัทกำลังพิจารณาแผนปิดสาขาและจุดให้บริการจากที่มีอยู่ทั้งหมด 40 แห่ง เพื่อให้บริษัทบาดเจ็บน้อยที่สุด
ขณะเดียวกันก็เริ่มเห็นปรากฏการณ์ร้านอาหารแบรนด์ดังทยอยประกาศปิดตัว อย่างเช่นร้าน “วานิลลา” (Vanilla) ในเครือ S&P ที่เปิดให้บริการทั้งในห้างเอ็มควอเทียร์ สยามพารากอน ประกาศยุติบริการทุกสาขาภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้
รวมถึงร้านกาแฟพรีเมี่ยม The Coffee Bean & Tea Leaf ประกาศให้บริการทั้ง 8 สาขาวันสุดท้ายเมื่อ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา
ขณะที่ “เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป” ธุรกิจร้านอาหารในเครือเซ็นทรัล ก็ประกาศยุบ 3 แบรนด์ร้านอาหาร ได้แก่ แจ่วฮ้อน (4 สาขา) FOO Flavor (2 สาขา) และ Musha by ZEN (3 สาขา)
และยังมีร้านอาหารแบรนด์เล็ก ๆ อีกจำนวนมากที่ทยอยปิดตัว
ผู้ประกอบการรายย่อย ในตลาดนัดจตุจักร จนถึงศูนย์ค้าปลีกค้าส่งกลางกรุง “แพลทินัม” จำนวนมากปิดตัวพร้อมติดป้ายเซ้งหรือให้เช่าต่อ
หัวเมืองท่องเที่ยวอย่างเชียงใหม่ ภูเก็ต สมุย ก็มีปรากฏการณ์โรงแรม ร้านอาหารติดป้ายประกาศขายหรือให้เช่าจำนวนมากเช่นกัน
แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” กระตุ้นการท่องเที่ยวของคนในประเทศ แต่คงไม่สามารถชดเชยกำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปได้ เป็นแค่การประคองหรือต่อลมหายใจเท่านั้น
ปรากฏการณ์ธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีรายย่อยต้องปิดตัวเป็นเหมือน “ใบไม้ร่วง”…กำลังเกิดขึ้นทั่วประเทศ และกำลังตามมาด้วยคลื่นคนตกงานจำนวนมหาศาล
นี่คือโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรู้ดีถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น แต่คำถามคือจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร