วิกฤต SMEs ฉุดรั้ง เศรษฐกิจฐานราก

เศรษฐกิจรากหญ้า-SMEs
บทบรรณาธิการ

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก กระทบธุรกิจทั้งรายใหญ่รายเล็กรุนแรงยาวนานเป็นประวัติการณ์ ทำให้ผู้ประกอบการที่สายป่านสั้น วิสาหกิจรายกลาง รายย่อย (เอสเอ็มอี) ซึ่งส่วนใหญ่อ่อนแอเปราะบางมีปัญหาหนัก ส่งผลต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจท้องถิ่นชุมชน ตลอดจนเศรษฐกิจในภาพรวม

เนื่องจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศมีจำนวนกว่า 2 ล้านราย กระจายอยู่ในธุรกิจและอุตสาหกรรมหลายสาขาทั้งในส่วนกลาง ต่างจังหวัด เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก มีการจ้างงานสูงถึง 70% ของปริมาณการจ้างงานทั้งระบบ วิกฤตเอสเอ็มอีจึงส่งผลกระทบลูกจ้าง แรงงานทั้งคนไทย คนต่างด้าว รุนแรงเหนือความคาดหมาย

การประกาศปิดโรงงาน เลิกจ้าง ทยอยลดคน ลดชั่วโมงทำงาน ฯลฯ ที่มีให้เห็นรายวัน คือ รูปธรรมของปัญหาซึ่งกำลังขยายวงกว้าง หากสถานการณ์เศรษฐกิจกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยืดเยื้อไม่สิ้นสุด จะยิ่งทำให้ฐานรากของประเทศยิ่งจมดิ่ง

ขณะเดียวกัน จำนวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งรายกลาง รายย่อยที่มีสัดส่วนมากถึง 99% ของผู้ประกอบธุรกิจทั้งประเทศ เทียบกับธุรกิจขนาดใหญ่แค่หยิบมือเดียว นอกจากนี้เอสเอ็มอียังเกี่ยวข้องเชื่อมโยงทั้งกับลูกจ้าง และเป็นหนึ่งในซัพพลายเชนของภาคการผลิตทุกเซ็กเตอร์ การดำรงอยู่หรือล้มหายตายจากของเอสเอ็มอีจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งต่อเศรษฐกิจไทย

การช่วยเหลือประคับประคองคนตัวเล็ก ธุรกิจเอสเอ็มอีให้ผ่านพ้นสถานการณ์ที่ยากลำบาก จึงเป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลดล็อกสินเชื่อซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาท โดยปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์เงื่อนไขให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้เข้าถึงมาตรการช่วยเหลือเยียวยา มีเงินเสริมสภาพคล่องในการทำธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ที่สำรวจความเห็นเอสเอ็มอี 2,666 ราย ใน 21 สาขาธุรกิจ ครอบคลุม 6 ภูมิภาค ในหัวข้อ “ธุรกิจเอสเอ็มอี กับการเข้าถึงสินเชื่อภาครัฐ” ช่วงเดือน พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่ 69.5% ไม่สามารถเข้าถึง และยังไม่ได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินและสินเชื่อ ที่ได้รับความช่วยเหลือมีเพียง 30.5%

ข้อควรพิจารณาคือการเข้าไม่ถึงมาตรการรัฐไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นโจทย์ที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรู้ปัญหาแต่ยังไม่ได้แก้ได้ตรงจุด เป็นการบ้านที่ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่กับ รมว.คลัง ซึ่งมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการเงินการธนาคาร ต้องขบคิดหาทางออก เร่งตอบโจทย์ให้ทันเวลาก่อนธุรกิจเอสเอ็มอีที่กำลังย่ำแย่จะหมดลมหายใจ