โควิด-19 น่ากลัวมากเพียงใด เทียบสถิติ “ติดเชื้อ-เสียชีวิต” ทั่วโลก

Photo by Fabrice COFFRINI / AFP
healthy aging : ศุภวุฒิ สายเชื้อ

เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2563 ผมเห็นข่าวของบีบีซีแจ้งว่า ประเทศอังกฤษกำหนดให้ประเทศสิงคโปร์และประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศดังกล่าวไม่ต้องกักตัว “quarantine-free” เมื่อเดินทางเข้าประเทศอังกฤษ (แต่คนไทยที่เดินทางไปเที่ยวประเทศอังกฤษคงต้องเตรียมการอย่างรอบคอบในการเดินทางกลับมายังประเทศไทย และคงต้องกักตัว 14 วัน)

ผมมีความเห็นว่า แนวคิดของคนไทย ณ วันนี้นั้น กลัวโควิด-19 มากกว่าโรคอื่น ๆ ทุกโรค และดูเหมือนว่าต้องการให้ประเทศไทยอยู่อย่างปราศจากโควิด-19 ซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ที่กำลังปรับตัวให้อยู่ให้ได้ กับการระบาดของโควิด-19 ที่อยู่ในขอบเขตที่ระบบสาธารณสุขรับมือได้ เพราะการปิดประเทศเพื่อปลอดโควิด-19 นั้น จะมีต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สูงเกินกว่าคนส่วนใหญ่ในหลายประเทศจะยอมรับได้

ผมได้คัดตัวเลขการติดเชื้อและการเสียชีวิตของประชาชนในประเทศอังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา มาเปรียบเทียบกับประเทศไทย เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าการอยู่กับโควิด-19 กับการอยู่โดยปราศจากโควิด-19 นั้น แตกต่างกันอย่างไร ดังปรากฏในตาราง

ที่เลือกประเทศอังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส ก็เพราะว่าประเทศดังกล่าวเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และยังมีจำนวนประชากรใกล้เคียงกับประเทศไทย กล่าวคือ อังกฤษมีประชากร 67.95 ล้านคน เยอรมนี 83.83 ล้านคน และฝรั่งเศส 65.30 ล้านคน แต่จะเห็นได้ว่าตัวเลขการติดเชื้อใหม่รายวันในช่วงต้นเดือนกันยายนอยู่ในระดับที่สูงมาก เช่น 1,700 รายที่ประเทศอังกฤษ 1,430 รายที่ประเทศเยอรมนี 7,720 รายที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเทียบกับประเทศไทยไม่ได้เลย เพราะภายในประเทศไทยนั้นปลอดเชื้อมาหลายเดือนแล้ว

ที่สำคัญคือในประเทศดังกล่าวก็ยังมีการเสียชีวิต เพราะโควิด-19 ทุกวัน เช่น 11 คนที่อังกฤษ 8 คนที่เยอรมนี และ 21 คนที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งผมกลับเชื่อว่าหากประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อในประเทศ (โดยที่ยังไม่ต้องเสียชีวิต) ก็คงจะเกิดความตื่นตระหนก และความปั่นป่วนอย่างกว้างขวาง แต่เราแทบจะไม่ได้เห็นรายงานอันใดเลย ที่แสดงความเป็นห่วงกับการตายเพราะโควิด-19 เป็นหลักสิบในประเทศดังกล่าว

ส่วนในกรณีของประเทศสหรัฐนั้นถือได้ว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 47,000 รายต่อวัน และมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 วันละ 1,100 คน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาของสหรัฐมีความน่าเชื่อถือสูง คือ Dr.Anthony Fauci เคยกล่าวว่า อยากเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ ในสหรัฐลดลงเหลือ 10,000 รายต่อวัน

ประเด็นคือประเทศสหรัฐมีประชากรมากกว่าประเทศไทยประมาณ 5 เท่า ดังนั้น หากเราย่อส่วนประเทศสหรัฐให้มีประชากรเท่ากับประเทศไทย ก็ย่อมแปลได้ว่าสหรัฐ (ที่ย่อส่วนมาเท่ากับไทย) จะพึงพอใจหากพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ วันละ 2,000 คน และมีผู้เสียชีวิตเพราะโควิด-19 “เพียง” 220 คน (1,100/5) ต่อวัน ซึ่งผมเชื่อว่าคนไทยคงจะทำอะไรไม่ถูก หากประเทศไทยอยู่ในสภาวะดังกล่าว

แล้วทำไมหลายประเทศที่ไม่ใช่ประเทศไทยจึงคิดว่า ประชากรของเขาจะสามารถอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้ ?

คำตอบแรกคือ สถิติล่าสุดสะท้อนว่าผู้ที่เสียชีวิตต่อจำนวนผู้ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อ (case fatality rate หรือ CFR) นั้น ลดลงไปมาก เป็นครั้งแรกที่โควิด-19 ระบาดหนักในสหรัฐ และยุโรปในเดือนเมษายนนั้น CFR สูงถึง 8.5% แต่เมื่อเวลาผ่านไป มาถึงเดือนสิงหาคมก็พบว่า CFR ลดลงเหลือเพียง 2.1%

จริงอยู่ จำนวนผู้ที่เสียชีวิตทั้งหมดบนโลกใบนี้จากโควิด-19 นั้น สูงกว่า 900,000 คนแล้ว และจำนวนมีแต่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า มนุษย์เสียชีวิตเพราะโรคติดต่อทุกชนิดบนโลกนี้ไปแล้ว 9,000,000 คน ตั้งแต่ต้นปีนี้ ถึงปลายเดือนกันยายน

กล่าวคือผู้ที่เสียชีวิตเพราะโควิด-19 นั้น คิดเป็นสัดส่วนเพียง 10% ของจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคติดต่อทุกชนิด แต่ไม่มีใครเลยที่ทราบว่า โรคติดต่ออื่น ๆ นั้นเป็นโรคอะไรบ้าง และก็คงไม่ได้รับรู้หรือเกรงกลัวโรคดังกล่าวแต่อย่างใด แม้ว่าจะคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 90% ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด ผมจึงสรุปว่า มนุษย์ โดยเฉพาะคนไทย กลัวโควิด-19 เกินกว่าข้อเท็จจริงอย่างมาก

แต่ความกลัวก็คือความกลัว และกรณีของโควิด-19 นั้น คงได้ยินข่าวเกี่ยวกับการที่โควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและกว้างขวาง กับอวัยวะสำคัญของร่างกาย และกำลังกลายพันธุ์ ทำให้ติดต่อได้ง่ายขึ้น ตลอดจนภูมิคุ้มกันก็อาจอยู่ได้เพียงระยะสั้น ๆ ฯลฯ

ดังนั้นจึงควรจะมาดูรายงานวิจัยว่า โควิด-19 นั้นเป็นอันตรายอย่างไร และเป็นอันตรายมากน้อยเพียงใด

ประเด็นสำคัญที่ผมต้องขอย้ำอีกครั้งหนึ่งคือ ข้อมูลที่ชัดเจนว่าสัดส่วนผู้เสียชีวิตต่อจำนวนผู้ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อ หรือ CFR นั้นลดลงอย่างมาก จาก 8.5% เป็น 2.1% ซึ่ง CFR ลดลงอย่างมากในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ประเทศอังกฤษนั้น ในเดือนเมษายนพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ประมาณ 4,000-5,000 รายต่อวัน และมีผู้เสียชีวิต 1,000 รายต่อวัน แต่ในเดือนกันยายน มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณวันละ 3,000-4,000 คน ในขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตลดลงเหลือเพียง 10-15 คนต่อวัน

แสดงให้เห็นว่าคงมีการตรวจสอบคัดกรองผู้ที่อยู่ในข่ายน่าสงสัยมากขึ้น และการรักษาพยาบาลเพื่อช่วยชีวิตคนไข้นั้น ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้นอย่างมากเช่นกัน

ทั้งนี้ แม้ว่าจะไม่ได้ค้นพบยารักษาที่ฆ่าเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างราบคาบ หรือค้นพบวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าวแต่อย่างใด

คำถามคือแนวทางการบำบัดรักษาโควิด-19 นั้นพัฒนาไปอย่างไร จึงทำให้สัดส่วนผู้เสียชีวิตลดลงอย่างมาก ซึ่งแปลว่าโควิด-19 จะไม่อันตรายและน่ากลัวอย่างที่เคยเป็น เมื่อเดือนเมษายน แม้จะมีโอกาสที่จะมีการระบาดรอบสอง ก่อนจะพยายามหาคำตอบ ผมต้องขอกล่าวถึง อีกตัวแปรหนึ่งที่สำคัญมากกว่า CFR คือ infection fatality rate (IFR) ได้แก่ จำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากโควิด-19 ทั้งหมดหารด้วย จำนวนผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ทั้งหมด ทั้งผู้ที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อและผู้ที่ไม่เคยไปตรวจ (และคงไม่มีอาการ) แต่ติดเชื้อดังกล่าวแต่หายขาดไปแล้ว

IFR นั้นจะเป็นตัวเลขที่เล็กกว่า CFR อย่างมีนัยสำคัญ เพราะในหลายกรณี อาจมีการตรวจเชื้อได้ไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีอาการไข้เพียงเล็กน้อยจึงไม่ได้ไปตรวจเชื้อ ผมได้พยายามไปสืบหา การประเมิน IFR ในเชิงวิชาการ (โดยอาศัยการทดสอบเลือดที่เรียกว่า serology test เพื่อตรวจว่าร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันในเลือดที่เรียกว่า antibodies หรือไม่) ก็พบว่าองค์การอนามัยโลก สรุปว่า IFR อยู่ที่ประมาณ 0.5-1.0% ในขณะที่ US CDC (ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาดของสหรัฐ) ประเมิน IFR ที่ 0.65%

แปลว่าหากการประเมินทางวิชาการดังกล่าวถูกต้อง และปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตเพราะโควิด-19 ไปแล้ว 950,557 คน (ตัวเลข ณ วันที่ 18 กันยายน 2563) ก็แปลว่าจำนวนผู้ที่ติดเชื้อและเป็นโควิด-19 นั้น ไม่ใช่ 30.35 ล้านคน (อันนี้เป็นจำนวนผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบและยืนยันแล้วว่าติดเชื้อ) แต่จำนวนผู้ที่ติดเชื้อในโลกนี้น่าจะเท่ากับ 950,557/0.0065 เท่ากับ 146.24 ล้านคน หรือมากขึ้นอีกเกือบ 5 เท่า ของตัวเลขที่รายงานกันเอาไว้ที่ 30 ล้านคน

จากการค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับการติดเชื้อโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 6-7 เดือนที่ผ่านมานั้น ผมสรุปได้ดังนี้ว่า การตั้งชื่อโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ว่าเป็น SARS-COV-2 นั้น อันที่จริงไม่ถูกต้องนัก เพราะ SARS-COV-2 ย่อมาจาก Severe Acute Respiratory Syndrome-Corona Virus-2 แปลว่า อาการระบบหายใจล้มเหลวอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน

ซึ่งก็เป็นความจริงที่ไวรัสนี้เข้ามาสู่ร่างกายผ่านทางเดินหายใจ (จากจมูกเข้าไปที่หลอดลมและปอด) และไวรัสจะเข้าไป “สิง” ที่เซลล์ของปอดก่อน แต่งานวิจัยระยะหลังนี้พบว่า ผู้ที่มีอาการหนักและเสียชีวิตนั้นมักจะเกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกัน (immune system) บกพร่อง ทำงานช้าเกินไป และเมื่อถูกจุดติดให้ทำงานก็ทำงานแบบ “สติแตก” หรือ cytokine storm ทำลายทั้งเซลล์ที่ถูกไวรัสสิงและเซลล์ปกติ จึงทำลายอวัยวะสำคัญ ๆ ของร่างกายพร้อมกันไปด้วย

ทำให้มีการแทรกซ้อนมากมาย เช่น หัวใจวาย สมองเสื่อม เส้นเลือดรั่ว ฯลฯ ซึ่งส่วนที่เกี่ยวกับผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันนั้น ดังนั้น ผมจะขอเขียนถึงในครั้งต่อไป แต่สามารถสรุปก่อนได้เลยในครั้งนี้ว่า คนที่เป็นโรคประจำตัวที่ทำให้เสี่ยงจากการเสียชีวิต เพราะโควิด-19 เป็นโรคเบาหวาน โรคความดัน โรคหัวใจ และโรคมะเร็งนั้น เป็นเพราะผู้ที่เป็นโรคดังกล่าว ระบบภูมิคุ้มกันทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง และมีความเปราะบางอยู่ก่อนแล้ว

และการดูแลระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงและสมบูรณ์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การหลีกเลี่ยงไม่ให้ร่างกายต้องมีอาการที่เรียกว่า chronic inflammation หรือการอักเสบเรื้อรังนั้นมีความสำคัญยิ่งในการลดความเสี่ยงจากการเกิดอาการรุนแรงเมื่อติดเชื้อโควิด-19 และสามารถทำได้โดยการดำเนินชีวิต (lifestyle) ที่ส่งเสริมให้สุขภาพแข็งแรง ได้แก่ การกินอาหารที่มีประโยชน์ การลดความอ้วน การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการนอนหลับให้เพียงพอครับ