คณะราษฎร 2475-2563

คอลัมน์ สามัญสำนึก
อิศรินทร์ หนูเมือง

คณะราษฎร 2475 ถูกทำให้หายไปจากความทรงจำและประวัติศาสตร์ ตั้งแต่การรัฐประหารปี 2490 โดยพล.ท.ผิน ชุณหะวัณ และย้ำหมุดเป็นผู้ร้าย และถึงจุดล่มสลาย ในยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อสมาชิกคณะราษฎรคนสุดท้าย ถูกรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2500

กระทั่ง 2562-2563 ภารกิจการถอด-รื้อ มรดก 2475 ยังคงดำเนินไป ทั้งถอดหมุดเก่า ปักหมุดหน้าใสใหม่ รื้ออนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญออกไป

2475 คือมหาวิกฤตใหญ่ที่ถูกสั่งสมล่วงหน้ามาก่อนกาล ตั้งแต่ช่วงเปลี่ยนผ่านรัชสมัย รัชกาลที่ 5 สู่แผ่นดินรัตนโกสินทร์ ที่ 6 และก่อนที่รัชกาลที่ 7 จะสละราชสมบัติ

แม้รัชสมัยพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จะเป็นยุคแห่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไทยที่ยิ่งใหญ่ แต่ตลอดรัชสมัย ต้องฝ่าทั้งภัยคุกคามจากมหาอำนาจ และวิกฤตราชสำนัก ทั้งวังใน-วังหน้า

มีพระราชวงศ์ระดับสูง 11 คน กราบบังคมทูลความเห็น “เพื่อให้มีรัฐธรรมนูญ” แต่รัชกาลที่ 5 มีพระบรมราชวินิจฉัยว่า “ต้องการปฏิรูปอำนาจของรัฐบาลเสียก่อน จึงนำมาสู่การปฏิรูปการปกครองเพื่อรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางแทนที่จะกระจายอำนาจ”

กระทั่งถึงปลายรัชสมัย ทรงมีพระราชดำรัสในที่ประชุมเสนาบดีว่า “จะให้ลูกวชิราวุธ มอบของขวัญแก่พลเมืองในทันที ที่ได้ขึ้นสู่ราชบัลลังก์ ในฐานะสืบตำแหน่งกษัตริย์”

“รัฐสภาและรัฐธรรมนูญ” อันเป็นความใฝ่ฝันของนายทหารหนุ่มระดับแกนนำ 60 คน ก็ชิงลงมือ ผ่านการปฏิวัติ 2454 (ร.ศ.130) ทว่าเวลาไม่ได้อยู่ข้างฝ่ายก่อการ การณ์จึงกลับกลายลงท้ายด้วย “กบฏหมอเหล็ง”

แผ่นดินที่ 6 ของพระมงกุฎเกล้าฯ ตามพระราชบันทึกของพระองค์เอง ที่ใช้นามปากกา “ราม วชิราวุธ” ระบุไว้ว่า “ความยุ่งเหยิง มีอยู่ทุกวัน” ตั้งแต่วาระแรกแห่งการเสด็จขึ้นครองราชย์ “แม้ในระหว่างงานบรมราชาภิเษก…”

ครั้นถึงรัชกาลที่ 7 พายุใหญ่ในเศรษฐกิจ-สงคราม ที่สะสมกำลังมาตั้งแต่ปลายรัชสมัยที่ 5 พัดโหมเข้าใจกลางราชสำนัก

แต่การตัดสินพระทัยในช่วงมหาวิกฤตใหญ่ ใช้เวลา 24 ชั่วโมงพลิกผันสถานการณ์จากเผชิญหน้าสู่การอภิวัฒน์สยาม

เมื่อมือแห่งเทพเทวาคลี่ม่านคลุมฟ้า ย่ำรุ่งวันแรม 6 ค่ำเดือน 7 ปีวอก สมาชิกคณะราษฎร 2475 เคลื่อนกำลังประชิดลานพระที่นั่งอนันตสมาคม ใช้พระบรมวงศ์เป็นตัวประกัน

ข้อโต้แย้งเรื่องชิงสุกก่อนห่าม ถูกตอบคำถามว่าเป็นการสุกงอมเต็มที่ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ถูกแทนที่ด้วยการปักหมุดหมายแห่งความจริงใหม่ ที่เป็นประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า

การสืบสันตติวงศ์ เปลี่ยนสายสู่ราชสกุลมหิดล ในแผ่นดินรัชกาลที่ 8 เพียงไม่นานก็เปลี่ยนผ่านสู่มหาราชา รัชสมัยที่ 9 ทรงครองราชย์ ครองใจประชา ยาวนานกว่า 70 ปี

ต้นแผ่นดินรัชกาลที่ 9 นี้เองที่ฝ่ายการเมืองยาตราเข้าสู่การ “โหนเจ้า” เป็นเครื่องมือในการโจมตีฝ่ายตรงข้าม กระทั่งตั้งข้อหาอันเป็นเคล็ดวิชาต้นตำรับ มารดาแห่งข่าวลวง หรือ fake news ด้วยการตะโกน 5 คำ ในโรงหนังโจมตี “ปรีดี…”

หลังคณะราษฎร 2475 นำพาการเมืองไทย สู่ยุคประชาธิปไตย แต่การต่อสู้ยังคงอยู่ในลู่คู่ขนานเดิม ระหว่างฝ่ายก้าวหน้าและอนุรักษนิยม

คณะราษฎร กลับมาจุติใหม่ ในปี 2563 และยังคงดำเนินไปอย่างเข้มข้น แหลมคม เร่าร้อน

ท่ามกลางภาวะสงครามการค้า โรคระบาดที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ และความโกลาหลในโครงสร้างอำนาจการเมืองและราชสำนัก เป็นที่มาของข้อเสนอที่ถูกปฏิเสธ 3 ข้อ

สู่ความใฝ่ฝันของคนรุ่นใหม่ในยุค 2020 ยุคที่วิกฤตล้อมกรอบประเทศไทย ยุคที่ไม่มีปัญญาชนนักประชาธิปไตยที่เสียสละ อย่าง “ปรีดี พนมยงค์”

ไม่มีนายทหารหนุ่มที่สุขุม-มีปัญญาและเข้าใจปัญหาประชาธิปไตยใหม่ ทั้ง 2 ขั้วพร้อมพลิกวิกฤตเป็นวิกฤต

……………………………..


***เชื่อมโยงข้อมูลจาก “ปัญญา (ฝ่า) วิกฤต” โดย ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา